บทความนี้ขอแนะนำ “อาการโคลิคคืออะไร คุณพ่อคุณแม่ต้องเตรียมรับมืออย่างไรดี” คุณพ่อคุณแม่หลายคนอาจจะกังวลใจ เมื่อลูกร้องไห้แบบไม่มีสาเหตุ และถ้าเป็นคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ก็อาจจะยิ่งกังวลใจกลัวว่าลูกจะเป็นอะไร แต่การที่ลูกน้อยร้องไห้อย่างไม่มีสาเหตุ อาจเป็นหนึ่งในอาการโคลิคในทารก ซึ่งอาการโคลิคคืออะไร แล้วคุณพ่อคุณแม่ต้องรับมืออย่างไรบ้าง ในบทความนี้มีข้อมูลมาฝากกัน
โคลิคคืออะไร ?
โคลิคคืออาการของทารกที่มีอายุราว ๆ 2–4 สัปดาห์ ร้องไห้อย่างหนักโดยไม่ทราบสาเหตุและไม่สามารถกล่อมให้หยุดร้องไห้ได้ ถือว่าเป็นอาการปกติที่เกิดขึ้นได้กับทารกทุกคน ทั้งเพศชายและเพศหญิง แม้จะมีสุขภาพดี หรือรับประทานนมได้ตามปกติก็ตาม โดยทั่วไป เมื่อทารกรู้สึกหิว กลัว เหนื่อย หรือรู้สึกเปียกชื้นมักจะส่งเสียงร้องไห้ออกมา
แต่หากมีอาการโคลิคจะร้องไห้หนักมาก และร้องไห้ในช่วงเวลาเดิม ๆ เป็นประจำ โดยเฉพาะเวลาเย็นหรือหัวค่ำ และจะร้องเสียงดัง เสียงแหลม และนานกว่าปกติ โดยรวมแล้วจะร้องไห้ประมาณวันละ 3 ชั่วโมง มากกว่าสัปดาห์ละ 3 วัน และยาวนานอย่างน้อย 3 สัปดาห์หรือบางรายอาจนานกว่านั้น และอาจมีอาการดีขึ้นเมื่ออายุประมาณ 3–4 เดือน
โคลิคเกี่ยวกับสิ่งลี้ลับจริงไหม ?
ถ้าลูกน้อยมีอาการโคลิค จึงมักจะร้องในเวลาตอนกลางคืน และสาเหตุที่ทำให้ลูกร้องไห้ไม่หยุดนั้นส่วนมากจะเป็นสาเหตุที่ผู้ปกครองไม่สามารถเห็นด้วยตาเปล่า แต่ไม่ได้เกี่ยวกับสิ่งลี้ลับแต่อย่างใด เนื่องจากปัจจัยที่ทำให้ทารกร้องนั้นอยู่ในร่างกายของทารกเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องฮอร์โมนในร่างกาย ทารกกำลังป่วยเป็นโรคบางโรคอยู่ในขณะนั้น ทารกอาจจะรู้สึกไม่สบายตัว รวมไปถึงการให้นมทารกแบบผิดวิธี เป็นต้น
โคลิคเกิดจากอะไร
1.การหดเกร็งของกล้ามเนื้อในระบบทางเดินอาหาร
2.อาการปวดท้องที่มีสาเหตุเกิดมาจากปรับเปลี่ยนฮอร์โมนในร่างกาย
3.มีลมหรือแก๊สในท้องมาก ทำให้ท้องอืดไม่สบายท้อง ซึ่งการร้องไห้อาจทำให้ทารกกลืนลมจำนวนมากเข้าไปในท้อง
4.พื้นฐานทางอารมณ์ของทารก หรือเด็กที่พ่อแม่มีปัญหาทางอารมณ์
5.การถูกรบกวนหรือถูกกระตุ้นจากปัจจัยภายนอกมากเกินไป เช่น เสียง แสงไฟ เป็นต้น
6.การพัฒนาของระบบประสาทที่ยังไม่สมบูรณ์ หรือการระคายเคืองของระบบประสาท
7.ปัญหาทางสุขภาพของทารก เช่น กรดไหลย้อน หูอักเสบ โรคติดเชื้อของระบบทางเดินปัสสาวะ ไส้เลื่อน แพ้นมวัว ผื่นผ้าอ้อม เป็นต้น
8.ปัญหาจากการป้อนนม ได้แก่ ป้อนมากเกินไป น้อยเกินไป หรือป้อนผิดวิธี
โคลิคเป็นอาการ ไม่ใช่ “โรคโคลิค”
คุณพ่อคุณแม่อาจเคยได้ยินคำว่า โรคโคลิค แต่ทางการแพทย์แล้วโคลิคไม่ใช่โรค และเป็นเพียงอาการที่ลูกแสดงออกมาในช่วงเวลาหนึ่งของชีวิตเท่านั้น อาการโคลิค เกิดจากระบบการย่อยอาหารของลูกที่ยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่ ทำให้เกิดการเสียดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้ ซึ่งเมื่อมีการสื่อสารกับปลายประสาทที่ลำไส้ และส่งสัญญาณไปยังสมอง จะทำให้การบีบตัวของลำไส้ผิดปกติไป ส่งผลให้เกิดอาการปวดท้อง ไม่สบายท้อง ลูกจึงร้องไห้โยเย โวยวาย ไม่ยอมหยุด
แต่เมื่อลูกค่อย ๆ โตขึ้นและมีพัฒนาการของระบบย่อยอาหารและระบบประสาทที่ดีขึ้นแล้ว อาการเหล่านี้ก็จะค่อย ๆ ดีขึ้นและหายไปในที่สุด โดยส่วนมากจะดีขึ้นเมื่ออายุประมาณ 3-4 เดือน เพราะฉะนั้น การที่ลูกมีอาการโคลิคไม่ใช่ว่าลูกป่วย แต่เป็นเพราะลูกอยู่ในช่วงกำลังปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ๆ ของชีวิต ซึ่งมีหลากหลายวิธีที่คุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยบรรเทาอาการโคลิคของลูกน้อยได้
โคลิคไม่อันตราย แต่ต้องระวังภัยที่แอบแฝง
อาการโคลิคไม่ได้ร้ายแรงมากนัก แต่ถ้าหากลูกร้องไห้โยเยไม่หยุด และมีอาการที่ผิดปกติควรรีบพาลูกไปพบแพทย์ทันที หากพบว่าลูกน้อยมีอาการต่อไปนี้ควรรีบพบแพทย์โดยด่วน
– ร้องไห้หนักมาก ร้องนาน ร้องเสียงแหลม หรือกระสับกระส่าย
– อุ้มขึ้นมาและทารกตัวอ่อนปวกเปียก
– ไม่ยอมกินนม
– อาเจียนเป็นของเหลวสีเขียว ๆ
– อุจจาระเป็นเลือด
– มีไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียสสำหรับทารกที่อายุต่ำกว่า 3 เดือน หรือมีไข้สูงกว่า 39 องศาเซลเซียสสำหรับทารกที่อายุ 3–6 เดือน
– กระหม่อมบุ๋ม
– ตัวเขียว หรือ ผิวซีด
– มีอาการชัก เกร็ง
– มีอาการหายใจที่ผิดปกติ
รับมืออย่างไรเมื่อลูกน้อยมีอาการโคลิค
การรับมือกับอาการโคลิคทำได้หลายวิธี แต่บอกไม่ได้ว่าวิธีไหนคือวิธีที่ดีที่สุด อาจต้องใช้เวลาในการค้นหาหรือทดลองจนกว่าจะเจอวิธีที่เหมาะสม แต่คุณพ่อคุณแม่อาจจะลองทำตามข้อแนะนำดังนี้ก็ได้
1.บางครั้งการที่ทารกร้องไห้อาจจะไม่ได้หิวนมเสมอไป เพียงแค่ต้องการหรืออยากจะดูดบางอย่าง คุณพ่อคุณแม่อาจให้ลูกน้อยดูดจุกหลอกหรือดูดนิ้วมือของทารกเองก็ได้
2.ตรวจสอบความชื้นของผ้าอ้อมหรือผ้าอ้อมสำเร็จรูปว่าเปียกหรือชื้นมากเกินไปจนทำให้เจ้าตัวน้อยไม่สบายตัวหรือเปล่า
3.ปรับอุณหภูมิภายในห้องให้ไม่หนาวหรือร้อนจนเกินไป
4.ป้อนนมให้ลูกน้อยอิ่มท้องเขาจะได้ไม่ร้องไห้โยเย
5.อุ้มทารกแล้วโยกไปมาเบา ๆ เพื่อให้เขารู้สึกใกล้ชิดกับคุณพ่อคุณแม่ ให้เขารู้สึกผ่อนคลายจะได้หยุดร้องไห้ หรือพาอุ้มออกไปเดินเปลี่ยนบรรยากาศภายนอก อาจช่วยให้ทารกสงบลงได้
6.นวดผ่อนคลาย เหมาะสำหรับเด็กอายุตั้งแต่ 6 สัปดาห์ขึ้นไป นอกจากจะช่วยผ่อนคลายทารกแล้วยังช่วยไล่ลมและกระตุ้นระบบย่อยอาหารได้อีกด้วย ทำได้ทุกวันเพื่อสุขภาพที่ดีของเจ้าตัวน้อย
บทส่งท้าย
อาการโคลิคไม่ใช่โรค เพียงแต่เป็นอาการที่เกิดในบางช่วงกับเด็กทารกเพียงเท่านั้น การดูแลและรับมือกับลูกน้อยที่มีอาการโคลิคนั้นอาจจะไม่ง่ายอย่างที่คิด โดยเฉพาะคุณพ่อคุณแม่มือใหม่อาจต้องทำการบ้านหนักสักหน่อย ซึ่งอาการโคลิคก็เป็นอาการปกติที่เกิดขึ้นได้กับทารกทุกคน ฉะนั้นคุณพ่อคุณแม่ต้องเตรียมตัวรับมือให้ดีทั้งร่างกายและจิตใจ และต้องพักผ่อนให้เพียงพอด้วย และที่สำคัญอย่าเครียดหรือกังวลใจจนมาเกินไป ไม่อย่างนั้นจะส่งผลเสียทั้งกับตัวคุณเองและลูกน้อยได้
เครดิตรูปภาพ www.mother.ly www.happyfamilyorganics.com babywise.life www.istockphoto.com
แนะนำเว็บ : Bkkcar4cash รับจำนำรถ