บทความนี้ขอแนะนำ “วัคซีนขั้นพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับลูก ที่พ่อแม่ต้องรู้” การที่ลูกเติบโตมาด้วยร่างกายที่แข็งแรง ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ เป็นสิ่งที่พ่อแม่ทุกคนหวังไว้อย่างมาก ซึ่งในปัจจุบันเชื้อโรคที่เรามองไม่เห็นในอากาศก็มีเยอะมากมาย ฉะนั้นการที่ลูกได้รับวัคซีนจะเป็นเหมือนเกราะป้องกันเชื้อโรค และช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้ลูก ๆ ห่างไกลจากโรคภัย ซึ่งวัคซีนที่ลูก ๆ จะต้องฉีดนั้นมีอะไรบ้าง ในบทความนี้ได้มีการแนะนำว่าช่วงอายุเท่าไหร่ ต้องฉีดวัคซีนตัวไหน มาเป็นแนวทางให้ได้ศึกษากันก่อน
วัคซีนคืออะไร
วัคซีน คือ ชีววัตถุหรือแอนติเจนที่ผลิตมาจากเชื้อโรคหรือพิษของเชื้อโรคที่ถูกทำให้ไม่สามารถก่อโรคได้ แต่ยังคงสามารถกระตุ้นให้ร่างกายสร้างแอนติบอดี้หรือภูมิคุ้มกันได้
วัคซีนพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับเด็ก
สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย และกระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดให้เด็กไทยทุกคน ต้องได้รับวัคซีนที่จำเป็นขั้นพื้นฐาน เพื่อช่วยป้องกันโรคที่เป็นปัญหาต่อสุขภาพ และยังช่วยสร้างเสริมให้เกิดภูมิคุ้มกันตามช่วงวัย ดังนี้
1.วัคซีนป้องกันวัณโรค
ควรจะได้รับการฉีดตั้งแต่แรกเกิด ซึ่งปกติโรงพยาบาลจะฉีดให้ทารกก่อนกลับบ้าน โดยจะฉีดที่ใต้ผิวหนังบริเวณต้นแขน หรือหัวไหล่ด้านซ้าย หรือที่สะโพกด้านซ้าย แล้วแต่ข้อกำหนดของแต่ละโรงพยาบาล หลังจากฉีดจะไม่มีรอยแผลใด ๆ แต่หลังจากช่วงระยะเวลา 3 -4 สัปดาห์หลังจากฉีด จะเกิดรอยตุ่มแดงบริเวณที่ฉีด หรืออาจจะมีหนองก็ได้ มีการทำความสะอาดและดูแลคือ เช็ดให้ผิวหนังบริเวณฉีดวัคซีนแห้งและสะอาดอยู่เสมอ ด้วยสำลีชุบน้ำต้มสุกที่เย็นแล้ว ซึ่งรอยตุ่มนั้นจะค่อย ๆ หายไปเอง และเกิดเป็นรอยบุ๋มแทน (BCG Vaccine)
2.วัคซีนตับอักเสบบี (Hepatitis B Vaccine : HBV)
ต้องได้รับทั้งหมด 3 เข็ม โดยฉีดเข็มแรกตั้งแต่แรกเกิด เข็มที่สองเมื่ออายุครบ 1 เดือน และเข็มสุดท้ายเมื่อเด็กครบ 6 เดือน ช่วยป้องกันโรคตับอักเสบที่เกิดจากไวรัส Hepatitis B ถ้าหากได้รับเชื้อไวรัสเข้าไปจะทำให้เกิดโรคทั้งแบบเฉียบพลันและแบบเรื้อรังได้ ผู้ป่วยจะมีอาการตัวเหลือง ตาเหลือง ปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน เป็นต้น
3.วัคซีนโปลิโอ (Polio Vaccine)
มีด้วยกัน 2 แบบคือ แบบหยอด และแบบฉีด สามารถใช้แทนกันได้ แต่ต้องอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์อีกครั้ง ซึ่งวัคซีนแบบฉีดนั้นต้องฉีดตามช่วงอายุตั้งแต่ 2, 4, 6 เดือน, 1 ปี 6 เดือน และ 2 ปี ครึ่งตามลำดับ โปลิโอเป็นโรคที่เกิดจากไวรัสโปลิโอ สามารถแพร่กระจายจากคนสู่คนได้ เมื่อติดเชื้อแล้ว จะส่งผลต่อสมอง และไขสันหลัง ซึ่งมันร้ายแรงอาจจะทำให้เป็นอัมพาตได้ ปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาโปลิโอให้หายขาดได้ แต่สามารถป้องกันด้วยวัคซีน
4.วัคซีนคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน (Diphtheria-Tetanus-Pertussis Vaccine: DTP)
โดยแบ่งฉีดชุดแรก 3 ครั้ง เมื่ออายุ 2 เดือน 4 เดือน และ 6 เดือน หลังจากนั้นควรมีการฉีดเพื่อกระตุ้นการทำงานของวัคซีนอีกครั้งในช่วงอายุ 1 ปี 6 เดือน และเมื่อมีอายุ 4-6 ปี และฉีดเฉพาะ คอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน สำหรับเด็กโต
-โรคคอตีบ เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง สามารถติดต่อได้จากการสัมผัสถูกสารคัดหลั่งจากจมูก ลำคอ ของผู้ป่วย อาการของโรคคือลำคออักเสบรุนแรง ไข้สูง เกิดเป็นพังผืดอุดกั้น ทางเดินหายใจ ทำให้หายใจ และกลืนลำบากอาจทำให้หัวใจวาย และเสียชีวิตได้
-โรคบาดทะยัก เกิดจากพิษของเชื้อบาดทะยักที่มีอยู่ตามสิ่งแวดล้อมทั่วไป เข้าสู่ร่างกายทางบาดแผล ซึ่งเชื้อโรคจะเข้าไปทำลายระบบประสาทและกล้ามเนื้อ ทำให้เกิดอาการตามมาดังนี้ ขากรรไกรแข็ง คอแข็งชักเกร็ง หายใจลำบาก และถ้าหากอาการรุนแรงก็ทำให้เสียชีวิตได้
– โรคไอกรน หรือโรคไอร้อยวัน เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง ติดต่อได้จากการสัมผัสถูกสารคัดหลั่งจากจมูก ลำคอ ของผู้ป่วย ซึ่งหลังจากได้รับเชื้อเข้าไปจะทำให้เกิดการอักเสบของเยื่อบุทางเดินหายใจ มีอาการไอมาก ไอต่อเนื่อง จนหายใจลำบาก ในเด็กเล็กอาจเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น หยุดหายใจ ไอรุนแรงจนทำให้ซี่โครงหัก ส่งผลให้เสียชีวิตได้
5.วัคซีนหัด-หัดเยอรมัน-คางทูม (Measles mumps rubella vaccine : MMR)
แบ่งฉีด 2 ครั้ง ครั้งแรก อายุ 9-12 เดือน และครั้งที่ 2 อายุ 2 ปี 6 เดือน ซึ่งสามารถป้องกันโรคหัดชนิดเหล่านี้ได้
– โรคหัด เกิดจากเชื้อไวรัส Measles ซึ่งจะมีอาการผื่นแดง มีไข้ ตาแดง และอาจจะมีภาวะแทรกซ้อนได้หลายอย่าง เช่น ปอดอักเสบ หูอักเสบ ท้องเดิน และสมองอักเสบ สามารถแพร่กระจายได้ผ่านละอองฝอยจากการไอ จาม
– โรคหัดเยอรมัน เกิดจากเชื้อไวรัส Rubella เมื่อได้รับเชื้อจะมีอาการ ปวดศีรษะ มีไข้ต่ำ ต่อมน้ำเหลืองบริเวณลำคอ และใบหูโต ตามมาด้วยอาการผื่น หัดเยอรมันจะรุนแรงเมื่อติดในสตรีมีครรภ์ เพราะอาจทำให้เด็กในครรภ์พิการได้
– โรคคางทูม เกิดจากเชื้อไวรัส Mumps เข้าไปทำให้ต่อมน้ำลายอักเสบ บางรายอาจเกิดอาการเยื่อหุ้มสมองอักเสบด้วย แม้คางทูมอาจไม่ทำให้เสียชีวิต แต่ก็อาจนำไปสู่อาการแทรกซ้อนได้หลายอย่าง เช่น อัณฑะอักเสบ รังไข่อักเสบ ข้ออักเสบ ระบบประสาทอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เป็นต้น
6.วัคซีนไข้สมองอักเสบเจอี (Japanese encephalitis virus :JE)
แบ่งฉีด 2 ครั้ง ครั้งแรก อายุ 9-12 เดือน และครั้งที่ 2 อายุ 2 ปี 6 เดือน ไข้สมองอักเสบเกิดจากเชื้อเจอีไวรัส ซึ่งหากได้รับเชื้อ จะมีอาการปวดศีรษะรุนแรง มีไข้สูง ชัก และอาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้
7.วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ (Influenza Vaccine)
ควรฉีดทุกปี ปีละ 1 ครั้ง ตั้งแต่อายุ 6 เดือน ถึง 18 ปี โดยปีแรกของการฉีดให้ฉีด 2 เข็ม เว้นระยะห่างกัน 4 สัปดาห์ ไข้หวัดเกิดจากเชื้อโรคที่ชนิดต่างกัน อาการหลังจากได้รับเชื้อจะมีไข้สูงเฉียบพลัน หนาวสั่น ปวดเมื่อยตามตัวและกล้ามเนื้อ มีน้ำมูกใส คัดจมูก ไอแห้ง เจ็บคอ และเบื่ออาหาร และอาจจะมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ถ่ายเหลว คลื่นไส้อาเจียน และชักจากไข้สูง
วัคซีนเด็กอื่นๆ เสริมภูมิต้านทานโรค
1.วัคซีนเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อฮิบ (Hib Vaccine) วัคซีนป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรีย เป็นวัคซีนที่อยู่ในวัคซีนชนิดรวม 1 เข็ม ป้องกันได้ 5 โรค คือ คอตีบ บาดทะยัก ไอกรน ตับอักเสบบี เยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อฮิบ โดยฉีด 3 ครั้ง ตั้งแต่เด็กอายุ 2 เดือน 4 เดือน และ 6 เดือน
2.วัคซีนโรตาไวรัส (rotavirus) ช่วยปกป้องโรคโรตาไวรัส เด็กๆ สามารถรับวัคซีนได้ตั้งแต่อายุ 2 และ 4 เดือน วัคซีนนิวโมคอคคัส ป้องกันปอดอักเสบ เยื้อหุ้มสมองอักเสบ โดยวัคซีนชนิด PCV ควรฉีดในช่วงอายุ 2 เดือน 4 เดือนและ 6 เดือน จากนั้นจึงฉีดกระตุ้นอีกครั้งเมื่ออายุ 1 ปี ถึง 1 ปี 3 เดือน
3.วัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส (Varicella vaccine) ฉีดรวมทั้งหมด 2 เข็ม ตามช่วงอายุ ตั้งแต่ 2 ปีครึ่ง และอีกครั้งเมื่ออายุ 4-6 ปี
4.วัคซีนตับอักเสบ เอ (Hepatitis A Vaccine) ต้องฉีด 2 ครั้ง ห่างกัน 6-12 เดือน โดยสามารถฉีดได้ตั้งแต่อายุ 1 ปีขึ้นไป
5.วัคซีนไข้เลือดออก แนะนำให้ฉีด วัคซีนในเด็ก ที่มีอายุตั้งแต่ 9 ปีขึ้นไป โดยฉีด 3 ครั้ง เว้นระยะ 6 เดือน และ 12 เดือนจากการฉีดเข็มแรก
ผลข้างเคียงหลังจากฉีดซีนมีอะไรบ้าง
วัคซีนทุกชนิดหลังจากฉีดสามารถเกิดผลข้างเคียงได้ เช่น ปวด บวม บริเวณที่ฉีด มีไข้ต่ำ ๆ ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าร่างกายได้รับวัคซีนแล้วและกำลังทำงานเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน อาจจะทำให้ลูกร้องไห้งอแง เพราะรู้สึกไม่สบายตัว
บทส่งท้าย
เด็ก ๆ ทุกคนควรได้รับวัคซีน ตามที่กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดเพื่อเป็นการป้องกันโรค และช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกายได้ด้วย ซึ่งการที่ลูกต้องฉีดยาหรือได้รับวัคซีนลูกอาจจะกลัวบ้าง แต่เพื่อร่างกายของเขาที่จะแข็งแรงขึ้น คุณพ่อคุณแม่ก็ควรจะพาลูกเข้าไปรับวัคซีนให้ครบถ้วนตามที่ได้ถูกกำหนดไว้ด้วย
เครดิตรูปภาพ www.pampers.ca www.first5california.com www.howcast.com