บทความนี้ขอแนะนำ “ล้างจมูกลูกด้วยน้ำเกลือ ไอเท็มสุดยอดสำหรับคุณแม่ ช่วยบรรเทาหวัด ขจัดเชื้อโรค” คุณแม่มือใหม่ที่กำลังศึกษาวิธีเลี้ยงลูกอยู่อาจจะกลุ้มใจถ้าหากทารกป่วย เพราะไม่ทราบว่าสาเหตุเกิดจากอะไร อย่างเวลาที่ลูกหายใจไม่สะดวก หายใจติดขัด ก็พานให้กังวลไปต่าง ๆ นานา ทั้งนี้ ทราบหรือไม่ว่าคุณแม่ควรล้างจมูกให้ลูกบ้าง เพราะอาจมีน้ำมูกตกค้าง ทำให้เขาหายใจไม่คล่อง ซึ่งน้ำเกลือหยอดจมูกก็เป็นส่วนสำคัญที่จะทำความสะอาดภายในจมูกทารกได้
ล้างจมูกด้วยน้ำเกลือคืออะไร
การล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ เป็นการทำความสะอาดภายในโพรงจมูก เพื่อชำระ หรือล้างเอาคราบน้ำมูก น้ำมูก สิ่งสกปรก และสิ่งแปลกปลอมภายในโพรงจมูกออกมา โดยจะใช้น้ำเกลือหยอดเข้าไปในรูจมูกเพื่อทำความสะอาด เพราะน้ำเกลือมีคุณสมบัติช่วยลดความเหนียวของน้ำมูก ลดการเจริญเติบโตของเชื้อโรค และไม่เสี่ยงต่อการระคายเคืองที่รุนแรง
คุณสมบัติของน้ำเกลือ
น้ำเกลือ หรือน้ำยาโซเดียมคลอไรต์ (0.9% Nacl) เป็นน้ำยาที่มีส่วนผสมที่ใกล้เคียงกับน้ำหล่อเลี้ยงในเซลล์ของร่างกายคนเรา น้ำเกลือจึงเหมาะที่จะใช้เพื่อการละลายตัวยา หรือ ใช้ทำความสะอาดส่วนที่อยู่ภายในร่างกาย เพราะไม่ทำให้ระคายเคืองต่อเนื้อเยื่อของร่างกาย
ทำไมถึงต้องล้างจมูกเด็ก
การล้างจมูกเด็กส่งผลที่ดีต่อร่างกายของเด็กได้ ดังนี้
– การล้างจมูกเด็กด้วยน้ำเกลือช่วยให้จมูกเด็กโล่งขึ้น หายใจได้สะดวก เพราะได้ล้างหรือกำจัดเอาพวกเศษน้ำมูก หรือคราบน้ำมูกแข็ง และสิ่งแปลกปลอมอื่น ๆ ออกไปจนหมด
– ช่วยให้ซิเลีย (Cilia) หรือขนขนาดเล็กในโพรงจมูกทำหน้าที่ในการโบกพัดสารคัดหลั่งและสิ่งแปลกปลอมต่าง ๆ ออกจากรูจมูกได้ดีขึ้น
– ป้องกันการติดเชื้อไซนัส
– ลดความเสี่ยงของอาการน้ำมูกไหลลงคอ
– บรรเทาอาการคัดจมูก หรือแน่นจมูกจนหายใจไม่ออก
– เพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่เยื่อบุโพรงจมูก
– บรรเทาอาการหวัดเรื้อรังให้ทุเลาลง
ล้างจมูกทารกได้ไหม
คุณพ่อคุณแม่สามารถล้างจมูกทารกได้ตั้งแต่ทารกวัยแรกเกิดเป็นต้นไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากพบว่าลูกมีอาการคัดจมูก แน่นจมูก หายใจไม่ออก ก็สามารถทำการล้างจมูกได้ การล้างจมูกทารกนั้นไม่อันตรายหากทำอย่างเหมาะสม ล้างอย่างถูกต้อง และไม่ละเลยความสะอาด ก็ไม่น่าจะก่อให้เกิดความเสี่ยงใด ๆ จากการล้างจมูกได้ อย่างไรก็ตาม ก่อนล้างจมูกควรให้ลูกได้กินอาหารเสียก่อน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการอาเจียน หรือการสำลักในขณะที่ล้างจมูก
ควรล้างจมูกทารกบ่อยแค่ไหน
หากพบว่าลูกมีอาการคัดจมูก แน่นจมูก หายใจไม่ออก คุณพ่อคุณแม่ควรล้างจมูกให้ลูกอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง คือช่วงเช้า และช่วงเย็น
วิธีล้างจมูกทารก ล้างอย่างไรให้ถูกวิธี
1.ก่อนจะเริ่มทำการล้างจมูกให้เด็ก คุณพ่อคุณแม่หรือผู้ที่จะทำการล้างจมูกควรล้างมือให้สะอาดเสียก่อน
2.เตรียมอุปกรณ์สำหรับการล้างจมูก ได้แก่
– น้ำเกลือ 0.9% หรือใช้น้ำเกลือขวดขนาด 100 ซีซีก็ได้เช่นกัน แต่ไม่ควรใช้น้ำเกลือขวดใหญ่ เพราะในทุก ๆ การเปิด-ปิดขวดน้ำเกลืออาจทำให้เกิดการสะสมเชื้อโรคได้ ควรเลือกน้ำเกลือขนาด 100 ซีซี เพราะเพียงพอต่อการใช้งานในแต่ละครั้ง
– ภาชนะสะอาดหรือถ้วยสำหรับใส่น้ำเกลือ
– กระบอกฉีดยาแบบไม่ใส่เข็ม หรือจะใช้ขวดยาหยอดตาก็ได้เช่นกัน
– ลูกยางแดงสำหรับดูดน้ำมูก
– กระดาษชำระ หรือผ้าสะอาดสำหรับเช็ดทำความสะอาด
3. ก่อนจะเริ่มขั้นตอนต่อไป ให้นำน้ำเกลือมาทำการอุ่นก่อน โดยทำการต้มน้ำ แล้วเทน้ำใส่ภาชนะ จากนั้นนำขวดน้ำเกลือลงไปอุ่นในน้ำเดือดประมาณ 5 นาที การอุ่นน้ำเกลือจะช่วยให้น้ำเกลือมีอุณหภูมิที่เหมาะสมกับโพรงจมูก และหลังจากอุ่นน้ำเกลือแล้ว ให้นำขวดน้ำเกลือมาแนบกับหลังมือ เพราะความอุ่นของน้ำเกลือนั้น ควรจะอุ่นในลักษณะที่หลังมือของเราสามารถทนได้ ไม่ควรร้อนจนเกินไป
4.เมื่อเตรียมอุปกรณ์ครบแล้ว ให้เริ่มเทน้ำเกลือลงในกระบอกฉีดยา(ที่ไม่ใส่เข็ม)จนเต็ม หรือใครสะดวกใช้ขวดยาหยอดตาก็ได้เหมือนกัน
5.หากเด็กดิ้น หรือไม่ยอมให้ความร่วมมือ ให้ใช้ผ้าสะอาดห่อตัวเด็กไว้
6.จัดท่าทางให้เด็กนอนอยู่ในท่าที่ศีรษะสูง ป้องกันไม่ให้เกิดการสำลัก แต่ถ้าเป็นเด็กโตที่สามารถสั่งน้ำมูกเองได้แล้ว ก็เพียงแค่ให้เด็กแหงนหน้าขึ้นเล็กน้อย
7.จับหน้าของเด็กให้นิ่ง อย่าให้ขยับหรือเคลื่อนไหว แล้วค่อย ๆ หยดน้ำเกลือลง 2-3 หยด หรือฉีดเข้าจมูกแค่เพียงครั้งละ 0.5 ซีซี
8.สำหรับเด็กที่ยังสั่งน้ำมูกเองไม่ได้ ให้ใช้ลูกยางแดงในการดูดเอาน้ำมูกออกมา แต่เด็กที่สามารถสั่งน้ำมูกได้ ก็ให้สั่งน้ำมูกออกมาพร้อมกันทั้งสองข้างได้เลย
9.ทำซ้ำจนกระทั่งไม่มีเสมหะตกค้างในจมูกแล้ว
10.ล้างและจัดเก็บทำความสะอาดอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้เรียบร้อย โดยล้างด้วยน้ำสบู่หรือน้ำยาล้างจาน และล้างด้วยน้ำสะอาดอีกครั้ง ส่วนน้ำเกลือที่เหลือให้ทิ้งให้หมด ไม่ควรนำกลับมาใช้ใหม่ เมื่อจะล้างรอบต่อไปก็ให้ใช้น้ำเกลือขนาดขวด 100 ซีซีขวดใหม่
ข้อควรระวังในการล้างจมูก
1.ควรใช้น้ำเกลือ 0.9% Sodium Chloride ชนิดปราศจากเชื้อเพื่อความปลอดภัย
2.ห้ามใช้ “น้ำเปล่า” ล้างโพรงจมูก
3.ไม่ควรฉีดน้ำเกลือเข้าจมูกแรง ๆ อาจทำให้โพรงจมูกเกิดการระคายเคือง หรืออักเสบได้
4.สั่งน้ำมูกเบา ๆ และเช็ดจมูกเบาๆ
5.การใช้ยาพ่นจมูก ควรรอให้โพรงจมูกแห้งก่อน อย่างน้อย 3-5 นาที จึงค่อยพ่นยา
6.ผู้ที่รูจมูกอุดตันด้านใดด้านหนึ่งตลอดเวลา ควรปรึกษาแพทย์ก่อนทำการล้างจมูก
7.การล้างจมูกในเด็กสามารถทำได้อย่างปลอดภัยตามแนะนำของแพทย์
บทส่งท้าย
ด้วยปัจจุบันโรคหวัด โรคภูมิแพ้ และไซนัสอักเสบ เป็นปัญหาสำหรับเด็กทำให้มีน้ำมูก เกิดการอุดกั้นในระบบทางเดินหายใจ ซึ่งการสั่งน้ำมูกอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ จึงมีความจำเป็นต้องล้างทำความสะอาดจมูก และดูดเอาน้ำมูกออกร่วมด้วย เพื่อไม่ให้มีการคั่งค้างของน้ำมูกในโพรงจมูก
เครดิตรูปภาพ www.healthline.com www.istockphoto.com www.medicinenet.com www.cocooncenter.co.uk