บทความนี้ขอแนะนำ บทความเรื่อง เมื่อลูกไม่ยอมกินข้าว ควรรับมือและแก้ปัญหานี้อย่างไรดี ลูกไม่กินข้าวหรือลูกกินยาก เป็นอีกหนึ่งปัญหาหนักใจ และน่ากังวลสำหรับคุณพ่อคุณแม่หลายคน เพราะกลัวลูกจะตัวเล็กกว่าเพื่อน ไม่แข็งแรงหรือเจริญเติบโตตามวัย เสี่ยงต่อการขาดสารอาหารบางอย่างและอาจส่งผลต่อการพัฒนาทางร่างกายและสมอง เรามาดูกันว่ามีสาเหตุใดบ้างที่ทำให้ลูกกินยากกัน
สาเหตุที่ลูกไม่ยอมกินข้าว คืออะไร
1.การเลือกกิน เด็กมีปัญหาในการเลือกรับประทานอาหารบางอย่าง เนื่องจากไม่ชอบเนื้อสัมผัส รสชาติ หรือกลิ่นของอาหารนั้น ๆ คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตพฤติกรรมการเลือกรับประทานของลูก เพื่อให้ทราบว่าลูกไม่ทานอะไรบ้าง เด็กที่ไม่ได้ลองกินอาหารที่มีเนื้อสัมผัสหรือรสชาติแปลกใหม่ตั้งแต่อายุยังน้อยมีแนวโน้มเกิดพฤติกรรมการเลือกกินได้สูง
2.อาการแพ้อาหาร เด็กเล็กเกิดการแพ้อาหารส่วนใหญ่แล้ว เด็กมักแพ้นม ถั่วเหลือง ไข่ ข้าวสาลี ถั่วต่าง ๆ และอาหารทะเล โดยจะเกิดอาการท้องร่วง อาเจียน มีผื่นขึ้น หรือปวดท้อง นอกจากนี้ เด็กเล็กยังเกิดภาวะที่ร่างกายรับอาหารบางอย่างไม่ได้ เด็กที่เกิดการแพ้อาหาร มักแพ้แลคโตส ข้าวโพด หรือกลูเตน โดยจะเกิดก๊าซในกระเพาะอาหาร ท้องอืด ท้องร่วง และปวดท้อง จะปรากฏอาการช้าหลังรับประทานอาหารที่แพ้เข้าไป แต่อาจเกิดอาการป่วยนานหลายชั่วโมงหรือหลายวัน
3. ไม่คุ้นชินกับอาหาร อาจเป็นเพราะในช่วงแรกที่มีการปรับเปลี่ยนจากการรับประทานนมมาเป็นอาหาร ทำให้เด็กรู้สึกไม่คุ้นเคย ไม่คุ้นชินกับการต้องเคี้ยวอาหาร และเพราะลักษณะของอาหารนั้นมีเนื้อสัมผัสที่หยาบกว่านมที่เคยรับประทานอาจทำให้เด็กไม่อยากรับประทานอาหารและกลัวการทานอาหาร
4.ปัญหาสุขภาพที่ส่งผลต่อการกิน ปัญหาสุขภาพบางอย่างอาจส่งผลให้เด็กรับประทานลำบาก โดยอาจดูด เคี้ยว หรือกัดอาหารไม่ถนัด สำลักหรือรู้สึกพะอืดพะอมเมื่อรับประทานอาหาร รวมทั้งรู้สึกเจ็บปวดหรือเกิดอาการท้องผูก หากสังเกตว่าเด็กมีอาการดังกล่าว ควรพาไปพบแพทย์
5.ผู้ปกครองเป็นต้นแบบที่ทำให้เด็กชอบกินจุกจิก อีกหนึ่งสาเหตุที่เด็ก ๆ ไม่ยอมรับประทานอาหารนั้นเป็นเพราะพวกเขาอิ่มจากมื้อขนมย่อย ๆ มาแล้วนั่นเอง ทำให้เมื่อถึงเวลาทานอาหารกลับไม่รู้สึกอยากทานอาหารอีกต่อไป ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้ส่วนใหญ่เกิดมาจากผู้ใหญ่เป็นผู้ชักนำ เช่น เอาน้ำหวานหรือขนมให้กินในระหว่างวัน ซึ่งอาหารเหล่านี้มักมีสารอาหารไม่เพียงพออาจทำให้เด็กมีปัญหาสุขภาพตามมาได้
เด็กไม่ยอมกินข้าว มีผลเสียอย่างไร
เด็กที่ไม่ยอมกินข้าว เบื่ออาหาร ปฏิเสธอาหารบ่อย หากเกิดขึ้นบ่อย ๆ อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพของเด็กได้หลายประการ ไม่ว่าจะเป็นอาจพัฒนาไปสู่พฤติกรรมการกินที่ไม่ปกติ ซึ่งอาจเสี่ยงต่อโรคอะนอเร็กเซีย และบูลิเมีย หรือ “โรคล้วงคอ”
– น้ำหนักตัวไม่เป็นไปตามเกณฑ์การเจริญเติบโต หรือน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์
– ได้รับสารอาหารบางอย่างน้อยกว่าที่ควร
– อ่อนเพลียระหว่างวัน
วิธีแก้ปัญหาลูกไม่ยอมกินข้าว
1.ให้ลูกกินอาหารด้วยตัวเอง
เมื่อลูกโตพอที่จะหยิบอาหารเข้าปากได้เอง ควรให้ลูกหยิบอาหารกินเอง ได้ช่วยเหลือตัวเอง ไม่ควรป้อนเพื่อบังคับให้ลูกกินอาหารได้เยอะ ๆ การที่ลูกรู้สึกว่าสามารถกินข้าวเองได้ สามารถช่วยเพิ่มความอยากอาหารให้ลูกได้
2.ทำให้การกินเป็นเรื่องสนุก
แทนที่จะเคี่ยวเข็ญให้ลูกกินข้าว ลองพูดคุยสนุกสนาน เพื่อสร้างบรรยากาศที่ดีร่วมกัน ให้ลูกได้เพลิดเพลินกับการกิน แบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่กดดัน
3.กำจัดสิ่งรบกวนอื่น ๆ ในเวลามื้ออาหาร
ไม่ควรมีสิ่งเร้าอื่น ๆ ที่สามารถเบี่ยงเบนความสนใจของลูกไปจากจานอาหารตรงหน้า ควรปิดทีวี การ์ตูน ไม่เล่นมือถือ เก็บของเล่น ให้พ้นจากสายตา เพื่อให้ลูกจดจ่อกับการกินมากขึ้น
4.เสิร์ฟอาหารให้น้อยกว่าความต้องการเล็กน้อย
เป็นเทคนิคที่ช่วยให้ลูกกินอาหารได้หมดจาน และรู้สึกว่าตัวเองทำสำเร็จ รวมทั้งกระตุ้นให้ลูกอยากขอเติมอาหารอีกด้วย
5.อย่าให้ลูกอิ่มก่อนมื้ออาหาร
คุณพ่อคุณแม่ควรจำกัดการกินนม หรือของว่างระหว่างมื้อ เพื่อให้ลูกรู้สึกหิวเล็กน้อยก่อนมื้ออาหาร จะช่วยเพิ่มความอยากอาหารในมื้อหลักได้ และไม่แนะนำให้ลูกกินอาหารที่จะทำให้อิ่มไว แต่ไม่ได้ประโยชน์ และยังอาจนำไปสู่โรคอ้วน เช่น น้ำหวาน ขนมหวาน และของทอดต่าง ๆ ก่อนมื้ออาหาร
6.ชมเข้าไว้
เมื่อลูกยอมกินอาหารหรือชิมอาหารใหม่ ๆ หรือมีพฤติกรรมในการกินที่ดี ให้คุณพ่อคุณแม่รีบชมลูกทันที ให้ลูกรู้ว่านี่คือพฤติกรรมที่เหมาะสม และพ่อแม่อยากเห็นลูกทำพฤติกรรมแบบนี้อีก ในขณะเดียวกัน เมื่อลูกได้รับคำชม ก็จะมีแนวโน้มทำพฤติกรรมที่ดีมากขึ้น
7.ตกแต่งอาหาร
เทคนิคอีกอย่างคือการตกแต่งหน้าตาอาหารให้น่ารับประทาน แค่ทำอาหารตามปกติ เสร็จแล้วก็ค่อยมาตกแต่งให้ดูน่าสนใจเช่น พยายามให้มีสีสัน 3-4 สี ซึ่งสีสันเหล่านี้ก็คือสีโดยธรรมชาติของผักผลไม้นั่นเอง เช่น แครอตจะให้สีส้ม มะเขือเทศจะให้สีแดง กะหล่ำปลีม่วงให้สีม่วง หรือจะถ้านึกสนุกอยากให้พิเศษมากขึ้น ก็อาจจะทำเป็นเรื่องราว เช่น ตัวการ์ตูนที่เขาชอบ หรือเป็นฉากในนิทานที่เขาเดาได้ รับรองว่าคุณลูกของเราจะทานเก่งขึ้นแน่นอน
8.หาชุดจานชามของเขาเอง
เราเพิ่มความสนุกสนานให้กับมื้ออาหารของลูกได้ด้วย จาน ชาม ช้อนส้อม แก้วน้ำ ซึ่งมีลวดลายการ์ตูนที่เขาชอบ ก็น่าจะทำให้เขาตื่นเต้นกับการกินข้าวได้มากขึ้น ถ้าเป็นไปได้พาเขาไปเลือกซื้อด้วยตัวเอง จะทำให้หนูน้อยอินกับอุปกรณ์การกินมากขึ้น และต้องระวังเรื่องสีที่เคลือบบนภาชนะทั้งหมดด้วยนะ ว่าไม่ละลายเมื่อถูกอาหารร้อนและไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ
บทส่งท้าย
หัวใจหลักของการฝึกเพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมลูกกินยากหรือลูกไม่ยอมกินข้าวให้ดีขึ้น ก็คือความใจเย็น และความพยายามค่อย ๆ ฝึกเด็กอย่างสม่ำเสมอ และมีฝึกวินัยตั้งแต่ยังเล็ก ที่สำคัญคือคุณพ่อคุณแม่ไม่ควรตามใจหรือใช้อาหารเป็นสิ่งต่อรองให้รางวัลหรือทำโทษ และไม่ควรแสดงออกให้เด็ก ๆ รู้ว่ากำลังกังวล หรือมีอาการหงุดหงิดกับพฤติกรรมการกินของเขา
เครดิตรูปภาพ
https://jagwire.augusta.edu https://www.eatthis.com https://www.babyandme.nestle.com.ve