บทความนี้ขอแนะนำ “ลูกน้อยหวงของ คุณพ่อคุณแม่ควรรับมืออย่างไรดี” อาการหวงของของเด็ก เป็นเพราะว่า ตัวเขาเองยังเด็ก ยังไม่รู้ถึงความต้องการของผู้อื่นอีกทั้งยังไม่สามารถทำความเข้าใจกับอารมณ์ของตนเองได้ดี เด็กบางคนหวงของมากขนาดที่ใครก็จับไม่ได้เลย การหวงของถึงจะเป็นปกติของเด็กทุกคน แต่ผู้ปกครองก็ไม่ควรจะละเลยการแก้ปัญหาโดยสอนให้ลูกรู้จักแบ่งปัน แต่จะมีวิธีให้แก้ปัญหาข้อนี้ได้บ้างบทความนี้มีข้อมูลมาฝากกัน
อาการหวงของ เป็นแบบไหน
เด็กที่มีอาการหวงของนั้น มักจะไม่ชอบให้ใครมายุ่งวุ่นวาย หรือมาแตะของ ๆ ตัวเอง หรือของเล่นที่ตัวเองชอบ แถมยังไม่ยอมแบ่งของเล่นให้คนอื่น ๆ เล่นอีกด้วย โดยปกติ อาการหวงของมีอยู่ด้วยกันหลายระดับ เด็กบางคนที่ขี้หวงไม่มากนัก จะยอมให้คนอื่นเล่นของเล่นของตัวเอง แต่เด็กบางคนที่หวงของมาก ๆ ก็จะไม่ยอมให้ใครมาแตะของเล่นตัวเอง แถมบางคนก็ยังชอบร้องไห้ ตอนที่มีคนหยิบของเล่นของตัวเองไปอีกด้วย หากปล่อยให้เด็กเป็นคนขี้หวง และไม่บอกไม่สอน เด็กอาจโตไปเป็นคนหวงของ จนทำให้คนรอบข้างไม่อยากปฏิสัมพันธ์ด้วยก็เป็นได้
ทำไมลูกถึงมีปัญหาเป็นเด็กขี้หวง
– ลูกรู้สึกว่าของชิ้นนั้นให้ความอุ่นใจแก่เขา เช่น ตุ๊กตาตัวโปรด กระเป๋าใบโปรด
– ลูกเริ่มเข้าใจว่าเขามีของที่เป็นของเขาเอง จึงรู้สึกหวงสิทธิ์ของตัวเองตรงนั้น
– ลูกถูกพ่อแม่บังคับให้แบ่งของของตนให้น้อง หรือคนอื่นโดยไม่เต็มใจบ่อยๆ จึงเกิดอาการหวงของเมื่ออยู่ที่โรงเรียน
ทำไมเด็กถึงหวงของเล่น
สาเหตุที่ทำให้เด็กมีนิสัยขี้หวง อาจมาจากการเลี้ยงดูของพ่อแม่หรือคนในบ้าน ที่อาจจะไม่เคยสอนให้เด็กรู้จักการแบ่งปัน หรืออาจจะมาจากการที่เด็กอยู่ติดกับของเล่นนั้นมาตั้งแต่ยังเด็ก พอมีคนมาหยิบยืมหรือเอาของเล่นไปไกล ๆ ตัว ก็เลยรู้สึกหวงขึ้นมา นอกจากนี้ เด็กบางคนที่มีความเป็นตัวของตัวเองสูงหรือรักอิสระ ก็อาจจะมีแนวโน้มหวงของเล่นมากกว่าเด็กประเภทอื่น เนื่องจากเด็กจะคิดว่าตัวเองจะทำอะไรกับของเล่นนั้นก็ได้
วิธีรับมือ ความขี้หวงของลูก
1.พูดคุยกับลูกเกี่ยวกับการแบ่งปันสิ่งของ การอธิบายว่าการแบ่งปันสำคัญอย่างไร และมีประโยชน์อย่างไร จะทำให้ลูกตระหนัก และเข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับการแบ่งปัน และพร้อมที่จะลงมือทำมากยิ่งขึ้น
2.สร้างแรงจูงใจ พยายามให้ลูก ๆ ผลัดกันเล่นของเล่นกับเพื่อน ๆ หากว่ามีเด็กคนอื่น ๆ อยู่ด้วย ไม่ว่าจะที่บ้าน หรือที่โรงเรียน ซึ่งนี่ถือเป็นการเริ่มแบ่งปันที่ดี นอกจากนี้ ลูกเราก็ยังได้เล่นของเล่นที่หลากหลายมากขึ้นอีกด้วย
3.เป็นแบบอย่างให้กับลูก พ่อแม่มีบทบาทสำคัญในการสอนลูกให้รู้จักแบ่งปัน การสอนให้เด็กรู้จักแบ่งปัน ทำได้ตั้งแต่ลูกยังเล็ก โดยเริ่มจากการเป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่ลูก เช่น แบ่งสิ่งต่าง ๆ ระหว่างคนในบ้านให้ลูกเห็นบ่อย ๆ เพื่อให้ลูกค่อย ๆ ซึมซับเอาไว้ และทำตามเมื่อโตขึ้น หรือเมื่อเพื่อนบ้านมาขอความช่วยเหลือเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ให้แสดงความยินดีช่วยเหลือ เป็นต้น
4.ให้ลูกเป็นคนมอบของขวัญ หากเราต้องการมอบของขวัญให้เพื่อนบ้านหรือญาติ ๆ ลองให้ลูกเราเป็นคนมอบของขวัญแทนเราดูได้ ของขวัญที่ว่านี้ อาจจะเป็นของขวัญวันเกิด อาหาร ขนม หรืออะไรก็ได้
5.อย่าบังคับหรือหลอกล่อจนเกินไป เด็กที่ยังอายุน้อยมาก ๆ อาจจะยังไม่เข้าใจถึงการแบ่งปัน เราไม่ควรบังคับลูกเกินไป หากเขายังไม่พร้อมแบ่งปัน เพราะอาจทำให้เขามีทัศนคติที่ไม่ดีได้ ทางที่ดี ควรค่อย ๆ สอนลูกจะดีกว่า หรืออาจจะเริ่มสอนตอนที่เด็กเริ่มเดินได้ โดยการถามไถ่ว่า อยากจะแบ่งของเล่นกับเพื่อน ๆ ไหม เพื่อเป็นการเช็คว่าเด็กพร้อมแล้วหรือยัง
6.ชื่นชมเมื่อลูกแบ่งปัน เราอาจจะใช้คำว่า “ขอบใจจ้า” หรือ “เก่งมากลูก” เพื่อชมเชยลูก เมื่อลูกแบ่งของเล่นให้เพื่อน ๆ เล่นด้วย เพราะเมื่อเด็กได้รับคำชม เด็กจะรู้สึกมีกำลังใจมากขึ้น และรู้สึกว่าตัวเองกำลังทำในสิ่งที่ดีและเหมาะสม
7.สอนลูกเป็นผู้ให้ อย่างเช่นเวลามีเด็กคนอื่นมาเยี่ยมแล้วมาเล่นของที่ลูกหวง ให้สอนลูกว่า น้องมายืมเล่นเดี๋ยวน้องก็คืน แต่ถ้าหากลูกไม่ให้ ก็ไม่ควรไปดุด่าเขา แต่ต้องอธิบายให้ลูกเข้าใจ ว่าเพราะอะไร
8.เข้าร่วมงานการกุศลต่าง ๆ กับลูก งานกุศล ถือเป็นงานที่ทำให้เราได้แบ่งปันอย่างแท้จริง คุณแม่สามารถชวนน้อง ๆ บริจาคเงิน หรือลงแรงช่วยเหลืองานการกุศลง่าย ๆ ได้ เพื่อช่วยปลูกฝังให้ลูกได้รู้คุณค่าของการแบ่งปันและช่วยเหลือคนอื่น ๆ
บทส่งท้าย
คุณพ่อคุณแม่ต้องสอนให้ลูกรู้จักแบ่งปัน และเคารพสิ่งของของผู้อื่นจะช่วยให้ลูกรู้จักเคารพสิทธิ และรู้จักเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ การสอนเด็กที่หวงของต้องใช้เวลา คำพูดและการกระทำที่อ่อนโยน อย่าดุด่า หรือตำหนิ เพราะจะทำให้เด็กเกิดการต่อต้านและไม่ยอมรับฟัง
เครดิตรูปภาพ www.istockphoto.com stock.adobe.com therightstartstaffing.com safeathomechildcare.com