บทความนี้ขอแนะนำ “ลูกน้อยนอนหลับไม่สนิท หลับยาก ตื่นบ่อย จะมีวิธีรับมือปัญหานี้อย่างไรดี” คุณแม่หลายคนคงเคยเจอกับปัญหาแบบนี้ลูกนอนหลับยาก บางครั้งลูกตื่นบ่อย นอนหลับไม่สนิท ซึ่งการนอนของเด็กทารกโดยธรรมชาติแล้ว จะใช้เวลากับการนอนมากถึงวันละ 16 ชั่วโมง และมักตื่นมาทุก 3 – 4 ชั่วโมงเพื่อกินนม จนเมื่อเด็กอายุ 3 เดือนขึ้นไป จะสามารถหลับกลางคืนได้ยาวนานขึ้นแต่ทำไมลูกของเรายังคงหลับยาก แถมบ้างครั้งตื่นขึ้นมาร้องไห้ งอแงตอนกลางคืนอยู่บ่อย ๆ ปัญหาเหล่านี้เกิดจากอะไร ชวนไปหาคำตอบกัน
ลูกหลับไม่สนิท หลับยาก หรือตื่นบ่อย เกิดจากอะไร
1. กินนมบ่อยครั้งเกินไป
ลูกนอนหลับยาก หรือตื่นบ่อย สาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากการที่คุณแม่ให้นมลูกบ่อยเกินไป เช่น ตอนกลางวันให้นมลูกทุก 1 – 2 ชั่วโมง หรือให้นมทุกครั้งที่ลูกร้อง เมื่อลูกตื่น หรือร้อง คุณแม่มักคิดว่าลูกหิว เลยป้อนนมให้ลูก ซึ่งโดยธรรมชาติของเด็ก เมื่อมีจุกนมหรือหัวนมแม่เข้ามาสัมผัสในปาก ระบบประสาทจะสั่งให้เกิดการดูด เมื่อลูกดูดคุณแม่ก็คิดว่าลูกหิวจึงให้ลูกกินนมทุกครั้งที่ตื่น ลูกจึงชินกับการกินนมแบบนี้ กลางคืนจึงตื่นมาร้องบ่อยเพื่อกินนมเหมือนช่วงกลางวัน
2. กินนมมากเกินไป
เมื่อลูกตื่นหรือร้อง คุณแม่มักคิดว่าลูกหิวก็ป้อนนมให้ลูกทุกครั้ง ลูกจึงได้รับนมมากเกินความต้องการ ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้หิว กลายเป็นว่าลูกกินนมมากไปจนเกิดอาการอึดอัด แน่นท้องจนนอนหลับไม่สนิท
3.นอนกลางวันมากเกินไป
การนอนหลับในช่วงเวลากลางวัน อาจทำให้ทารกไม่รู้สึกง่วงนอน และนอนหลับไม่สนิทในช่วงเวลากลางคืน ทำให้คุณพ่อคุณแม่ต้องตื่นมาคอยเลี้ยงลูก จนอ่อนเพลียในช่วงกลางวัน คุณพ่อคุณแม่จึงไม่ควรให้ลูกนอนเยอะในตอนกลางวัน และไม่ให้ลูกนอนเกิน 1 ชั่วโมงมากกว่า 2-3 ครั้ง เพื่อที่จะช่วยให้ลูกรู้สึกเหนื่อย และง่วงในตอนกลางคืน
4.ไม่สบาย
อีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ลูกน้อยนอนหลับไม่สนิท คือการไม่สบาย เป็นหวัด มีอาการโคลิค หรือไม่สบายท้อง จนทำให้ลูกหลับยาก และตื่นช่วงตอนกลางคืน โดยคุณพ่อคุณแม่อาจสังเกตได้จากการที่ลูกร้องไห้เป็นเวลานาน มีไข้ ท้องเสีย หรือกินอาหารได้น้อย คุณพ่อคุณแม่จึงควรสังเกตอาการลูกอยู่บ่อย ๆ
5.ลูกแพ้นม
หากลูกกินนมแม่ก็เป็นไปได้ว่า ลูกอาจจะแพ้อาหารบางอย่างที่ส่งผ่านทางน้ำนมแม่ เช่น แพ้นมวัว อาหารทะเล ชีส ฯลฯ หรือถ้าเด็กกินนมผงก็อาจเกิดจากการแพ้โปรตีนนมวัว ทำให้เกิดอาการคัดจมูกหายใจไม่ออก หายใจครืดคราด เกิดอาการไม่สบายเนื้อไม่สบายตัวต่าง ๆ จนรบกวนการนอนของเด็กได้ และทำให้ลูกหลับยาก
6.ลูกอยู่ในช่วงปรับตัว
ลูกน้อยแรกเกิดอาจยังไม่คุ้นชินกับโลกภายนอก และยังไม่รู้จักช่วงเวลาในการนอนที่เหมาะสม จนทำให้นอนหลับไม่สมดุล นอกจากนี้ การนอนหลับมากเกินไปอาจทำให้ลูกหลับไม่สนิท และตื่นบ่อยตอนกลางคืน หากคุณพ่อคุณแม่ไม่ปลุกลูกในตอนเช้า ก็อาจทำให้ทารกไม่สามารถเรียนรู้หรือปรับตัวได้
7.สภาพแวดล้อม
สภาพแวดล้อมเป็นอีกหนึ่งปัจจัย ที่ทำให้ลูกน้อยนอนหลับไม่สนิท คุณแม่ควรให้ลูกน้อยได้นอนในห้องที่มีอุณหภูมิที่ไม่ร้อน หรือหนาวเกินไป เพราะเขาจะอาจะรู้สึกไม่สบายตัว จนไม่สามารถนอนหลับได้ อุณหภูมิห้องที่เหมาะกับลูกควรอยู่ประมาณที่ 24 – 26 องศาเซลเซียส
วิธีแก้ปัญหาลูกนอนยาก หลับไม่สนิท หรือตื่นบ่อย
1.ให้ลูกกินให้อิ่ม
เนื่องจากกระเพาะอาหารทารกมีขนาดเล็ก และย่อยได้เร็ว ทำให้ลูกอาจรู้สึกหิวจนตื่นกลางดึก คุณพ่อคุณแม่จึงควรให้ลูกกินให้อิ่มก่อนนอน หากลูกตื่นขึ้นมา อาจลองตบก้นหรืออุ้มปลอบดูก่อน เด็กบางคนก็อาจหลับต่อได้โดยไม่ต้องกินนม นอกจากนี้ คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรป้อนนมลูกทุกครั้งเวลาเขาตื่นหรือร้องไห้ ก็จะช่วยลดปริมาณการได้รับนม และช่วยให้ลูกไม่รู้สึกอิ่มจนเกิดอาการอึดอัด
2.จัดสภาพแวดล้อมให้ดี
การจัดสภาพแวดล้อมการนอนหลับของทารก เป็นเรื่องสำคัญเช่นเดียวกับการนอนหลับของผู้ใหญ่ โดยทารกควรนอนหลับในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม คุณพ่อคุณแม่ควรจัดให้ลูกนอนอยู่ในห้องนอนที่มืด และเงียบ ไม่มีสิ่งรบกวนง่าย คุณพ่อคุณแม่อาจพาลูกเข้านอน โดยการกล่อมลูกเบา ๆ เมื่อลูกหลับแล้ว อาจหรี่ไฟลงเล็กน้อย เพื่อช่วยสร้างบรรยากาศให้ปลอดภัย และช่วยให้นอนหลับสนิทมากยิ่งขึ้น
3.หากลูกสะดุ้งตื่นให้กล่อมเบา ๆ
บ่อยครั้งที่ลูกน้อยมักนอนไม่หลับ บิดตัว และร้องไห้ คุณพ่อคุณแม่ก็อุ้มลูกขึ้นแล้วปลอบทันที อย่างไรก็ตามคุณพ่อคุณแม่ไม่ควรทำแบบนี้ หากลูกเกิดขยับตัวหรือร้องไห้ ให้ลองกล่อมลูกเบา ๆ หรือเอามือตบก้นลูกให้หลับก่อน เพราะหากอุ้มลูกขึ้นมา หรือให้นมลูก ก็จะสร้างพฤติกรรมการนอนที่ไม่ดีให้แก่ลูก ส่งผลให้ลูกนอนหลับไม่สนิทยิ่งกว่าเดิม
4.ก่อนเข้านอนไม่เล่นกับลูกมากเกินไป
ก่อนพาลูกเข้านอน คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรเล่น หรือกระตุ้นให้เด็กตื่นเต้น หรือกระตือรือร้นจนเกินไป เพราะอาจทำให้ลูกนอนหลับไม่สนิท หรือนอนหลับได้ยาก ทางที่ดีลองสร้างบรรยากาศที่สงบให้กับลูกน้อย เพื่อช่วยให้ลูกผ่อนคลาย เช่น การอ่านนิทานก่อนนอน หรือการฟังเพลงก่อนนอน ก็จะช่วยกระตุ้นให้ลูกรู้สึกผ่อนคลาย และนอนหลับได้ดียิ่งขึ้น
5.ให้ลูกดูดจุกปลอมก่อนนอน
สำหรับลูกเล็กวิธีนี้เป็นอีกวิธีที่ช่วยให้ลูกนอนหลับได้ดี แต่ควรใช้หลังจากที่ลูกสามารถดูดเต้าได้ดีแล้ว หรืออายุเกิน 1 เดือนขึ้นไปในเด็กกินนมแม่ เนื่องจากอาจทำให้ติดจุกนมและไม่ดูดเต้าได้ พอลูกหลับสนิทค่อยดึงออก หากลูกตื่นและต้องการดูดจุกหลอก ให้คุณแม่เปลี่ยนเป็นตบหลังเบา ๆ ปลอบลูกแทน และไม่ควรใช้วิธีนี้นานเมื่อลูกอายุ 1 ขวบไปแล้ว
บทส่งท้าย
ลูกน้อยนอนหลับไม่สนิท หลับยาก ตื่นบ่อย อาจเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นบ่อย แต่คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องกังวลใจไป เพราะพฤติกรรมเหล่านี้สามารถแก้ไขได้ไม่ยาก เพราะเมื่อเขาโตขึ้นพฤติกรรมการนอนของลูกก็จะค่อย ๆ ปรับตัวและดีขึ้นตามลำดับ ทั้งนี้คุณพ่อคุณแม่ควรหาข้อมูลและปรับตัวไปพร้อมกับลูกน้อยก็จะดีด้วยเช่นกัน
เครดิตรูปภาพ lowvelder.co.za www.childrenscolorado.org bumpbabyandme.ie www.parentlane.com