บทความนี้ขอแนะนำ บทความเรื่อง ภาวะเครียด ในเด็กมีจริงไหม ทำอย่างไรเมื่อลูกเครียด ‘ภาวะโรคเครียด’ เกิดขึ้นได้กับทุกคน ทุกเพศ ทุกอาชีพ รวมไปถึงคนทุกวัย ‘เด็ก’ ก็ไม่ใช่ข้อยกเว้นจากโรคนี้ด้วยเช่นกัน เด็กเครียดได้ไม่แตกต่างจากผู้ใหญ่อย่างเรา ๆ เพียงแต่เด็กยังไม่สามารถแสดงความเครียดนั้นออกมาได้มากเท่าที่เขารู้สึก นั่นจึงทำให้วิธีการแสดงออกของเด็กที่มีภาวะเครียดนั้นแตกต่างไปจากผู้ใหญ่ คุณพ่อคุณแม่จะมีวิธีป้องกันได้อย่างไร แล้วจะเลี้ยงลูกอย่างไรไม่ให้เครียด
ภาวะเครียด ในเด็กมีจริงไหม
สาเหตุที่เด็กเครียดเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุทั้งจาก ครอบครัว บางครั้งที่เด็กเห็นพ่อแม่ทะเลาะกัน หรือถูกตำหนิบ่อยๆ ทำให้เด็กเข้าใจว่าพ่อแม่ไม่รัก ไม่ให้ความสำคัญ นานไปเด็กก็ซึมซับ เกิดความวิตกกังวลจนไม่สามารถตัดความคิดนี้ออกไปได้ รวมถึงการเลี้ยงดูและความคาดหวัง ทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน เด็กบางคนที่พ่อแม่จริงจังเรื่องเรียนหรือสอบแข่งขันมาก ต้องแบกรับความคาดหวังของทั้งพ่อแม่และครูก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ทำให้เด็กเกิดความกดดัน พ่อแม่ที่เครียดก็ส่งผลให้เด็กเครียดด้วย
นอกจากนั้น โรงเรียน ก็มีส่วนทำให้เด็กเครียดได้เช่นกัน ครูดุ เข้มงวดเกินไป ลงโทษรุนแรง การบ้านเยอะ เด็กบางคนถูกเพื่อนแกล้ง ล้อเลียน ไม่คบด้วย ก็เกิดความวิตกกังวลว่าเพื่อนไม่รัก สุดท้ายเรื่องของ การปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลง เช่น เปิดเทอม ย้ายโรงเรียน ย้ายบ้าน พ่อแม่เลิกรากัน สูญเสียคนหรือสัตว์เลี้ยงที่รัก ภัยอันตรายต่าง ๆ ทำให้เด็กบางคนที่มีพื้นอารมณ์วิตกกังวลง่าย ไวต่อการกระตุ้น อ่อนไหว ก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดความเครียดได้ง่ายกว่าเด็กคนอื่น รวมไปถึงพฤติกรรมติดเกม ติดอินเทอร์เน็ต ในเด็กบางคน ก็เพราะอยากหนีออกจากความเครียดในใจ
สังเกตได้อย่างไรว่าเด็กกำลังมีภาวะเครียด
เพราะเด็กก็เครียดได้ไม่ต่างจากผู้ใหญ่ แต่สิ่งที่ไม่เหมือนกัน นั่นคือการแสดงออกที่ต่างจากผู้ใหญ่ เนื่องจากวุฒิภาวะและการจัดการตัวเองที่ทำได้ไม่ดีเท่า ทำให้เด็กที่เกิดความเครียดมักจะแสดงออกมามากเท่าที่เขาจะรู้สึกได้ จนอาจถูกมองว่าเป็นพฤติกรรมก้าวร้าวได้
อย่างไรก็ตาม ก่อนที่ภาวะความเครียดในเด็กจะปะทุ จนนำไปสู่พฤติกรรมก้าวร้าวได้นั้น มักจะมีสัญญาณทางอารมณ์บางอย่างเกิดขึ้นกับตัวเด็กก่อน และเป็นสิ่งที่พ่อแม่หรือคนใกล้ตัวต้องจับอาการเหล่านั้นให้ได้ ซึ่งโดยพื้นฐานแล้วเด็ก ๆ อาจแสดงอาการล่วงหน้าได้ดังนี้
1. แสดงความวิตกกังวลออกมาแม้ในสถานการณ์ปกติ
2. ไม่สามารถคลายเครียดได้ แม้จะอยู่ในบรรยากาศที่สนุกสนาน
3. เกิดภาวะความกลัวที่ไม่เคยมีมาก่อนหน้านี้ เช่น กลัวความมืด กลัวคนแปลกหน้า กลัวการอยู่คนเดียว
4. แสดงอาการติดพ่อ ติดแม่มากกว่าปกติ
5. มักจะแสดงความโกรธที่ควบคุมไม่ได้ หรือร้องไห้หนักและถี่มากเมื่อมีสิ่งเร้า
6. ไม่สามารถเข้าร่วมกิจกรรมกับครอบครัว หรือทางโรงเรียนได้
สาเหตุที่ทำให้เด็กเครียด
ต้นตอหรือสาเหตุที่ทำให้เด็กเครียดนั้น มาจากปัจจัยหลักอยู่ 3 อย่างด้วยกันคือ
1. กรรมพันธุ์ อาจเป็นเพราะที่คุณพ่อคุณแม่มีนิสัยเครียดหรือเป็นโรคเครียด มีส่วนที่ทำให้ลูกมีโอกาสเป็นโรคเครียดได้ด้วยเช่นกัน
2. สภาพแวดล้อม ต่อมาคือสภาพแวดล้อมปัจจัยนี้ถือเป็นส่วนสำคัญมากที่ก่อให้เกิดความเครียดในเด็กได้ และส่วนใหญ่มักมาจากปัญหาในครอบครัว ความคาดหวังของคุณพ่อคุณแม่ ไปจนถึงความกดดันที่ลูกสัมผัสได้ผ่านการอบรมเลี้ยงดู
3. ฮอร์โมนส์ที่เปลี่ยนแปลงของเด็ก โดยเฉพาะในเด็กที่กำลังก้าวเข้าสู่วัยรุ่น ซึ่งสามารถแบ่งย่อยออกเป็นสองกลุ่มด้วยกัน คือ เครียดจากปัจจัยภายนอก และเครียดจากปัจจัยภายใน
สาเหตุจากปัจจัยภายนอก
– การบ้านเยอะ
– ลูกเครียดเรื่องเรียน
– ความขัดแย้ง (ความขัดแย้งของคนในครอบครัวหรือความขัดแย้งกับเพื่อน)
– การย้ายที่อยู่อาศัย หรือสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป
สาเหตุจากปัจจัยภายใน
– วิตกกังวล
– คิดมาก
– คิดว่าตัวเองไม่เก่ง
– คิดว่าไม่มีใครรัก
– สารเคมีในสมองไม่เท่ากัน
เมื่อลูกมีความเครียด เราควรดูแลเขาอย่างไร
1. รับฟังปัญหาที่เกิดกับเขาอย่างใส่ใจ
เด็กก็เหมือนผู้ใหญ่ เวลาเราทุกข์ใจ เครียด เราต้องการแค่ใครสักคนที่ใส่ใจรับฟังเรา
อยู่เคียงข้างเรา ไม่ได้ต้องการคำสั่งสอน หรือแนวทางแก้ปัญหาในทันทีขณะนั้น เมื่อเราได้ระบาย ให้เวลากับจิตใจได้ปรับตัว เมื่อใจพร้อม แนวทางแก้ปัญหาเหล่านี้จะค่อย ๆ คิดได้เอง ซึ่งในการรับฟังนี้ จะช่วยให้คลายทุกข์ในใจลงไปได้มากโขทีเดียว หลาย ๆ คนบอกว่าความทุกข์ลดลงไปเกินครึ่งเลยทีเดียว
2. เปิดใจที่จะเข้าใจเขา
แม้ว่าแนวคิดของลูก บางครั้งพ่อแม่อาจไม่เห็นด้วย การเปิดใจ และ วางการตัดสินลงเป็นสิ่งสำคัญ อย่าเพิ่งรีบด่วนตัดสิน ประเมินลูกในช่วงเวลาที่เขากำลังท้อแท้ หรือ เครียดนี้ เมื่อเราเปิดใจแล้วเราจะเข้าใจเขา และปัญหาที่เกิดกับลูกได้มากขึ้น ขั้นตอนความเข้าใจเป็นสิ่งสำคัญมาก เราไม่สามารถดูแลใครได้ดีเลยถ้าปราศจากความเข้าใจ
3. ให้คำแนะนำที่เหมาะสม
คำแนะนำที่เหมาะสม คือ คำแนะนำที่มาจากความเข้าใจ ทั้งเข้าใจในตัวลูก และปัญหาในแบบที่ลูกเข้าใจด้วยเช่นกัน พ่อแม่บางคนนำประสบการณ์ หรือความเข้าใจของตัวเอง มาเป็นตัวตัดสิน ทำให้ขาดความเข้าใจในจิตใจที่เด็กเผชิญในแบบเด็ก ๆ จึงอาจทำให้คำแนะนำ สั่งสอนที่ให้แก่ลูกไปในช่วงเวลานั้น ๆ ไม่เหมาะสม ดังนั้นจึงไม่ควรรีบแนะนำ ก่อนที่จะเข้าใจปัญหาที่แท้จริง เพราะจะยิ่งทำให้รู้สึกแย่ มากกว่าจะรู้สึกดี
4. ให้กำลังใจ โดยการชี้ให้เขาเห็นศักยภาพในตัวเขา
ไม่ควรดุ ตำหนิ หรือใช้วิธีการตีกับเด็ก เพราะเด็กจะรู้สึกไม่ดีกับตัวเอง อาจทำให้เข้าใจว่าพ่อแม่ไม่รัก อีกทั้งยังทำให้เด็กเกิดการต่อต้าน บางครั้งเด็กอาจเลียนแบบโดยใช้วิธีที่พ่อแม่ปฏิบัติต่อตนเองไปใช้กับเพื่อนที่โรงเรียน พ่อแม่ควรมีสติและเหตุผลมากที่สุด นอกจากนั้นควรเลือกเพิกเฉยต่อเด็กอย่างสมเหตุสมผล เพราะบางอย่างเด็กอาจต้องการให้พ่อแม่สนใจเขา การที่เด็กมีความเชื่อมั่นในตนเอง จะทำให้เขาสามารถเผชิญต่อปัญหานั้น ๆ ได้ดีพอ
บทส่งท้าย
“ความเครียดในเด็ก” ถือเป็นเรื่องสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่ต้องเข้าใจและดูแลลูกอย่างใกล้ชิด ไม่ควรปล่อยปละละเลยเป็นอันขาด หมั่นทำความเข้าใจ เปิดใจและรับรู้ความรู้สึกนึกคิดของลูกอย่างแท้จริง หากทราบสาเหตุไว แก้ไขทัน จะได้ไม่เกิดปัญหาบานปลายตามมาทีหลัง
เครดิตรูปภาพ
www.linkedin.com www.verywellfamily.com www.anabelmagazine.com www.hellomagazine.com