บทความนี้ขอแนะนำ “ผมร่วงหลังคลอด สาเหตุและวิธีรับมือ ที่คุณแม่มือใหม่ต้องรู้” หนึ่งในปัญหาที่คุณแม่หลังคลอดต้องเจอและหนักพอๆ กับการเลี้ยงดูทารกก็คือ ปัญหาผมร่วงหลังคลอด ซึ่งปัญหานี้เราเรียกว่า ภาวะผมร่วงหลังคลอด ซึ่งแน่นอนว่ามันสามารถสร้างความกังวลใจให้กับคุณแม่หลังคลอดอย่างมาก แต่จะมีรับมือกับปัญหานี้อย่างไรบทความนี้มีข้อมูลมาฝากกัน
ทำไมผมร่วงหลังคลอดลูก
ฮอร์โมนเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้คุณแม่ผมร่วงหลังคลอดลูก เมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์แล้วคุณแม่จะมีระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนสูง ดังนั้นผมของคุณแม่จึงดูมีสุขภาพดีและหนาขึ้น แต่พอหลัง คลอดลูกฮอร์โมนเอสโตรเจนจะลดลง ทำให้ผมของคุณแม่ขาดหลุดร่วงมากกว่าเดิม
อาการผมร่วงหลังคลอดลูกอาจกินระยะเวลานานถึงหนึ่งปี และหากคุณแม่มีผมยาวก็จะทำให้เกิดอาการผมร่วงมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามอาการผมร่วงของคุณแม่จะกินระยะเวลายาวนานแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล แต่โดยปกติแล้วอาการผมร่วงมักเกิดหลังจากที่คลอดลูกไปแล้ว 4 เดือน
ผมร่วง ขนาดไหนควรจะไปพบแพทย์
สำหรับคำถามที่คุณแม่หลังคลอดกังวล เพราะว่าคุณแม่บางคนอยู่ในภาวะที่ผมร่วงผิดปกติหรือรู้สึกว่าผมร่วงนานเกิน 1 ปี ถ้าอาการแบบนี้ก็ควรจะรีบไปปรึกษาคุณหมอ เพราะถ้าหากว่าผมของคุณแม่ร่วงมาก ๆ ร่วงเป็นระยะเวลานาน ๆ ไม่หยุดสักทีอาจมีสภาวะเรื่องแทรกซ้อนอย่างอื่นอยู่ด้วย ไม่ว่าจะเป็นสภาวะการขาดธาตุเหล็กเนื่องจากว่าตอนคลอดบุตรนั้นอาจมีการสูญเสียเลือดปริมาณมากหรือช่วงตั้งท้องทานธาตุเหล็กไม่เพียงพอเลยส่งผลให้เกิดสภาวะของการขาดเลือดและก็ทำให้เกิดการขาดธาตุเหล็กในคุณแม่หลังคลอดได้
วิธีรับมือภาวะผมร่วงหลังคลอด
1.หยุดจัดแต่งทรงผมทุกอย่าง
การใช้ความร้อนในการแต่งผมไม่ว่าจะเป็นไดร์เป่าผมหรือคีมดัดผมไฟฟ้า อาจทำให้เส้นผมของคุณดูบางลงได้ ฉะนั้นพยายามอย่างแต่งผมอะไรมากนัก ปล่อยให้เส้นผมแห้งเองตามธรรมชาติจนกว่าอาการผมร่วงจะหายไปดีกว่า นอกจากนี้การแปรงผมแรง ๆ ก็อาจทำให้ผมร่วงมากขึ้นได้ ฉะนั้นก็เบามือในการแปรงผมหน่อย และอย่าแปรงผมมากกว่าวันละหนึ่งครั้ง เอาเวลาแปรงผมไปกอดลูกสุดที่รักของคุณดีกว่า หรือตัดผมให้สั้นขึ้น เพราะผมสั้นต้องการสารอาหารน้อยกว่า และอาจร่วงน้อยกว่าผมยาว
2.ใช้แชมพูชนิดเพิ่มความหนา
โชดดีที่ยุคนี้มีแชมพูชนิดเพิ่มความหนาแบบเวิร์คๆ อยู่มากมาย ในขณะที่แชมพูแบบที่ช่วยปรับสภาพเส้นผมนั้นอาจทำให้เส้นผมลีบแบนลงมาได้ รวมทั้งทำให้เส้นผมดูบางลงกว่าปกติด้วย แต่แชมพูแบบเพิ่มความหนาให้เส้นผมนั้นจะช่วยเพิ่มน้ำหนักให้เส้นผม ทำให้เส้นผมดูพองหนาได้อย่างยาวนาน
3.ใช้ผลิตภัณฑ์แต่งผม
ผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้ใช้มูสส์แต่งผม เพื่อช่วยสร้างภาพลวงตาให้ผมดูหนาขึ้น ซึ่งถ้าจะให้ดีก็ควรเปลี่ยนทรงผมเสียด้วยเลย ลองปรึกษาช่างตัดผมดูนะ ว่าจะตัดทรงไหนแล้วช่วยให้แต่งผมให้ดูหนาได้ง่ายขึ้นบ้าง ถ้าคุณไว้ผมยาวในระดับเดียวกันมาตลอด ก็น่าจะลองเปลี่ยนเป็นผมซอยบ้าง นอกจากนี้ก็ควรใช้คอนดิชันเนอร์แบบไม่ต้องล้างออกหลังสระผมด้วย
4.ลองเปลี่ยนสีผม
การเปลี่ยนสีผมจะช่วยเพิ่มน้ำหนักให้เส้นผมได้เป็นอย่างดี ถ้าคุณรู้สึกว่าผมสีเข้มๆ ของคุณดูบาง ก็อาจเพิ่มมิติให้เส้นผมดูหนาขึ้นด้วยการทำไฮไลท์บริเวณด้านหน้า ก็จะช่วยทำให้เส้นผมดูหนาขึ้นได้ หรือไม่ก็ลองทำทรีทเม้นท์ที่ช่วยให้เส้นผมดูเป็นเงางามทั่วทั้งศีรษะได้ นอกจากนี้คุณอาจใช้วิธีเปลี่ยนแสกร่วมด้วยก็ได้ อย่างเช่น ถ้าเคยแสกกลางก็เปลี่ยนมาแสกข้าง อาจจะช่วยให้ผมดูหนาขึ้นมาได้บ้าง
5.เปลี่ยนเท็กซ์เจอร์
สภาพผมทีเหยียดตรงมักจะทำให้ผมดูบางลงได้อย่างชัดเจน ฉะนั้นถ้าคุณเคยใช้ไดร์เป่าผมหยิก ๆ ของคุณให้ดูเหยียดตรงล่ะก็ ควรหยุดการกระทำดังกล่าวได้แล้ว และปล่อยให้เส้นผมแห้งเองตามธรรมชาติ หรือไม่ก็ลองใช้โรลม้วนผมไฟฟ้าหรือคีมม้วนผมไฟฟ้า เพื่อช่วยทำให้ทรงผมดูพองสวยขึ้นได้ นอกจากนี้อาจใช้เครื่องประดับผม อย่างเช่น ที่คาดผม ผ้าพันผม หรือผ้าโพกศีรษะเก๋ ๆ เพื่อช่วยอำพรางอาการผมร่วงได้อย่างมีสไตล์
6.กินอาหารที่ช่วยบำรุงเส้นผม
อาหารที่ช่วยบำรุงเส้นผมนั้นมีมากมาย เช่น ผักโขม ผักคะน้า บร็อกโคลี มันเทศ แครอท ไข่ และปลา โดยอาหารเหล่านี้จะช่วยเสริมสารอาหารให้แก่ร่างกายได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นโปรตีน ธาตุเหล็ก วิตามินซี เบต้าแคโรทีน วิตามินดี กรดไขมันโอเมก้า 3 และแมกนีเซียม นอกจากอาหารเหล่านี้จะช่วยบำรุงเส้นผมของคุณแม่หลังคลอดให้แข็งแรงแล้ว ยังช่วยบำรุงร่างกายได้ดีอีกด้วย
7.กินวิตามินเสริม
การกินวิตามินเสริมหลังคลอด ไม่แนะนำให้คุณแม่กินเพื่อทดแทนการกินอาหารที่หลากหลาย เนื่องจากคุณแม่ยังคงอยู่ในช่วงของการให้นมลูก แต่มีวิตามินเสริมบางชนิดที่สามารถกินได้ หากร่างกายของคุณแม่ได้รับสารอาหารเหล่านั้นไม่ครบถ้วน นั่นก็คือ ธาตุเหล็ก ซิงก์ วิตามินบีรวม วิตามินซี และวิตามินอี ซึ่งวิตามินเสริมเหล่านี้ไม่ได้มีความสามารถต่อการลดภาวะผมร่วงหลังคลอดได้โดยตรง แต่จะมีความสำคัญต่อสุขภาพโดยรวมของคุณแม่หลังคลอด
บทส่งท้าย
ภาวะผมร่วงหลังคลอดนั้นจัดเป็นเรื่องปกติที่สามารถเกิดขึ้นได้กับคุณแม่ทุกคน ซึ่งอาการนี้จะค่อย ๆ ดีขึ้น แต่ตราบใดที่ลูกน้อยมีอายุไม่ครบ 1 ขวบแล้ว ภาวะผมร่วงของคุณแม่ยังไม่ดีขึ้น จำเป็นที่จะต้องรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจสอบหาสาเหตุอื่น ๆ ที่ทำให้ผมร่วง
เครดิตรูปภาพ getrevela.com mumsgrapevine.com.au