บทความนี้ขอแนะนำ “ทันตกรรมสำหรับเด็กสำคัญแค่ไหน จำเป็นไหมต้องพาลูกไปหาหมอฟันเด็ก” หนึ่งในหลายคำถามที่คุณพ่อคุณแม่สงสัยเกี่ยวกับการเข้ารับการรักษาฟันสำหรับเด็ก คือ หากลูกมีปัญหาเกี่ยวกับฟันจำเป็นแค่ไหนในการรักษากับทันตแพทย์เด็ก สามารถพาเด็กเข้ารับการรักษากับทันตแพทย์ทั่วไปเหมือนกับผู้ใหญ่ได้หรือไม่ ซึ่งในบทความนี้มีคำตอบมาฝากกัน
ทันตกรรมสำหรับเด็กสำคัญต่อลูกน้อยอย่างไร
ก่อนอื่นเราต้องทำความเข้าใจก่อนว่าฟันเด็กที่ขึ้นเป็นชุดแรกนั้นเป็นฟันน้ำนมซึ่งมีความแข็งแรงของเคลือบฟันน้อยกว่าฟันแท้ที่จะขึ้นมาตามช่วงวัย ถึงจะเป็นฟันชั่วคราวแต่ฟันน้ำนมก็เป็นฟันที่มีอายุการใช้งานมากกว่า 6 ปี ซึ่งจะช่วยในการรับประทานอาหาร เป็นตัวช่วยในการออกเสียง รวมถึงเป็นพื้นที่สำหรับจองให้ฟันแท้ขึ้นด้วย ซึ่งการดูแลด้วยการแปรงฟันอย่างเดียวไม่เพียงพอ ดังนั้นจึงต้องมีทันตกรรมสำหรับเด็กเพื่อรองรับการดูแลและแก้ปัญหาฟันที่อาจเกิดขึ้นเองจากกรรมพันธุ์หรือพฤติกรรมเสี่ยงที่เกิดจากตัวเด็กด้วย
ทันตกรรมเด็กคืออะไร มีอะไรบ้าง
ทันตกรรมเด็ก คือ ทันตกรรมสาขาหนึ่ง ที่ดูแลรักษา สุขภาพช่องปากของเด็กโดยเฉพาะ ตั้งแต่เด็กแรกเกิดไปจนถึงอายุ 12 ปี ซึ่ง ทันตกรรมเด็กจะมี 3 ด้านหลักๆ
– ทันตกรรมป้องกัน ได้แก่ การตรวจเช็คช่องปาก การเคลือบฟลูออกไรด์ เคลือบหลุมร่องฟัน ใส่เครื่องมือป้องกันฟันล้ม
– ทันตกรรมฟื้นฟู ได้แก่ การขูดหินปูน การอุดฟัน การครอบฟัน รักษารากฟัน
– พัฒนาการของฟัน ได้แก่ โครงสร้างใบหน้า การสบฟัน ฟันซ้อน ฟันเก
จำเป็นแค่ไหนที่ต้องทำฟันกับทันตแพทย์เด็ก
เด็กในวัย 6 เดือน – 12 ปี จะเป็นช่วงวัยที่ต้องให้ความสำคัญกับการรักษาและป้องกันปัญหาฟันผุเป็นหลัก ให้ฟันน้ำนมมีอายุอยู่ยาวนาน เพื่อใช้ในการบดเคี้ยว และออกเสียงในวัยเด็ก ตลอดจนรักษาพื้นที่ของขากรรไกรให้ฟันแท้สามารถขึ้นมาอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้อง การสูญเสียฟันน้ำนมก่อนเวลาอันควร จึงมักตามมาด้วยปัญหาฟันแท้ซ้อนเกอยู่เสมอ
การดูแลรักษาจากแพทย์เฉพาะทางช่วยป้องกันปัญหาเด็กมีภาพจำเกี่ยวกับการพบทันตแพทย์ที่ไม่ดี อาจก่อให้เกิดความกลัว ความเครียด และความเจ็บปวดได้มากกว่าวัยผู้ใหญ่ แต่ทันตแพทย์เฉพาะทางด้านทันตกรรมสำหรับเด็กจะมีความรู้ความสามารถในการใช้จิตวิทยาสื่อสารเพื่อลดความกลัวในการทำฟัน และสามารถให้คำแนะนำกับผู้ปกครองในการดูแลฟันสำหรับเด็กได้อย่างตรงจุดมากกว่า การพบทันตแพทย์ไม่จำเป็นต้องรอให้เกิดปัญหาสุขภาพช่องปาก เพราะเด็กควรได้รับการดูแลพื้นฐานเกี่ยวกับฟันและสุขภาพช่องปากโดยรวม เพื่อเป็นการป้องกันและปลูกฝังทัศนคติที่ดีในการดูแลฟันให้กับเจ้าตัวน้อย
วิธีดูแลฟันเด็ก
วิธีดูแลฟันเด็กก็คล้าย ๆ การดูแลฟันผู้ใหญ่ แต่สิ่งที่เน้น คือสร้างนิสัยของเด็กในเรื่องการดูแลฟันอย่างถูกวิธี เพื่อสุขภาพฟันที่ดีในระยะยาว และทันตแพทย์จะมีคำแนะนำสำหรับพ่อแม่มือใหม่ในการดูแลฟันลูกน้อยตั้งแต่แรกเกิดอย่างไรบ้าง มาดูกันค่ะ
– ในวัยแรกเกิด พ่อแม่สามารถใช้ผ้าอ้อมชุบน้ำต้มสุกในการทำความสะอาดช่องปาก บริเวณสันเหงือก รวมถึงลิ้น ไม่ควรปล่อยให้ลิ้นของเด็กเกิดฝ้าขาว เพราะเป็นแหล่งสะสมของเชื้อแบคทีเรีย
– หากฟันน้ำนมเริ่มขึ้น – 3 ปี พ่อแม่ควรเริ่มแปรงฟันให้เด็ก ใช้แปรงสีฟันที่อ่อนนุ่ม และยาสีฟันที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์ ปริมาณนิดเดียว แค่พอเปียกขนแปรง หลังแปรงเสร็จใช้ผ้าเช็ดฟองออกเท่านั้น
– อายุ 3 – 6 ปี ให้เด็กเริ่มแปรงฟันด้วยตัวเอง เพิ่มปริมาณยาสีฟัน ใช้ประมาณขนาดเท่าถั่วเขียว และบ้วนฟองออกเท่านั้น โดยมีพ่อแม่คอยเช็คดูอีกที
– อายุ 12 ปี สามารถใช้แปรงสีฟันแบบผู้ใหญ่ได้แล้ว
ข้อดีของการรักษาฟันเด็ก
เมื่อฟันน้ำนมเริ่มขึ้นในช่องปากแล้ว การดูแลรักษาฟันเด็กให้ดีตั้งแต่ยังเป็นฟันน้ำนม จะช่วยทำให้เด็กมีทัศนคติที่ดีต่อการรักษาฟันตัวเองและไม่กลัวหมอฟัน ซึ่งการมีฟันน้ำนมไว้เคี้ยวอาหารจะช่วยไม่ให้มีปัญหาในการพูดหรือการบดเคี้ยว และการขึ้นมาของฟันแท้ในอนาคตต่อไป นอกจากนี้หากเด็กมาพบทันตแพทย์เป็นประจำ ก็จะช่วยลดโอกาสของการเกิดฟันผุในฟันแท้ ทำให้เป็นฟันแท้ที่แข็งแรง และยังช่วยประหยัดค่าทำฟันได้อีกมาก ถ้าเด็กสามารถเรียนรู้ที่จะรักษาฟันเองเบื้องต้นได้
หากพ่อแม่หรือผู้ปกครองยังไม่ทราบว่าควรจะเริ่มดูแลสุขภาพฟัน และรักษาฟันเด็กอย่างไร แนะนำให้พาเด็กไปพบกับทันตแพทย์เฉพาะทางสาขาทันตกรรมสำหรับเด็ก เพื่อรับคำแนะนำในการทำความสะอาดช่องปากทั่วๆไป เช่น หลังจากที่รับประทานอาหาร หรือนมเสร็จแล้ว ควรทำความสะอาดฟันอย่างไร
ทำอย่างไรไม่ให้ลูกกลัวการทำฟัน
1.สร้างความเคยชิน โดยพาเด็กไปเช็คสุขภาพช่องปากโดยเริ่มตั้งแต่ 6 เดือน หรือฟันซี่แรกเริ่มขึ้น เพราะฟันชุดแรก หรือ ฟันน้ำนมสำคัญมาก ซึ่งจะเป็นพื้นฐานสุขภาพฟันที่ดีของฟันชุดที่ 2 คือ ฟันแท้ นั่นเอง จึงจำเป็นต้องพาเด็กไปเช็คสุขภาพช่องปาก และรับคำแนะนำจากหมอฟันเด็ก เมื่อเด็กมีสุขภาพฟันที่แข็งแรง ก็ไม่ต้องพาลูกไปหาหมอฟันบ่อย
2.สร้างทัศนคติที่ถูกต้อง จินตนาการของเด็กนั้นสำคัญ และการสร้างจินตนาการที่ดีของวัยเด็ก อาจจะเป็นการเล่านิทาน การ์ตูน หนังสือเด็กที่เกี่ยวกับฟันหรือ การจำลองสถานการณ์จริง สวมบทเป็นคุณหมอ ทำให้เด็กรู้สึกการทำฟันนั้นเป็นเรื่องสนุกได้
3.สร้างบรรยากาศที่ดี เมื่อเด็กต้องไปทำฟัน ควรคุยกับลูก และพูดแต่สิ่งดี ๆ ไม่พูดในแง่ลบของการทำฟัน หรือ ขู่ ให้เด็กรู้สึกกลัว
4.ให้คำชม เมื่อทำฟันเสร็จ ควรชื่นชมเด็ก แทนคำพูดที่รู้สึกสงสาร ให้เด็กรู้สึกภูมิใจ
บทส่งท้าย
อย่างไรก็ตาม เด็กเล็กมักเป็นวัยที่ไม่ค่อยจะให้ความร่วมมือในเรื่องของการแปรงฟัน พ่อแม่ต้องมีกำลังใจ และมีความมุ่งมั่นที่จะช่วยทำความสะอาดช่องปากและฟันให้ลูกน้อย เพื่อให้ฟันของลูกน้อยสมบูรณ์และแข็งแรงมากที่สุด
เครดิตรูปภาพ www.dentalelements.ca nolensvillepediatricdentistry.com www.colgate.com kidsworldpediatricdental.com docparker4kids.com