ช่วงเวลาตั้งครรภ์ของคุณแม่ ถือเป็นช่วงที่พิเศษและสำคัญที่สุด คุณแม่จะต้องพบกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆในชีวิตมากมาย จึงต้องใส่ใจและดูแลตัวเองเป็นพิเศษทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจให้แข็งแรง สร้างความสุขให้กับตัวเองอยู่เสมอ เพราะเมื่อร่างกายเกิดความสุข จะหลั่งฮอร์โมนที่ดีออกมา ส่งผลให้ลูกในครรภ์เป็นเด็กที่เลี้ยงง่าย อารมณ์ดี มีสุขภาพกายและสุขภาพใจที่แข็งแรง ซึ่งการดูแลสุขภาพใจนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย คุณแม่อาจจะต้องเผชิญกับปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจ ในขณะที่ตั้งครรภ์อยู่มากมาย เนื่องจากอารมณ์ที่แปรปรวณและยากจะควบคุม แต่ทราบหรือไม่ว่าอารมณ์เหล่านั้นจะนำความเสี่ยงและส่งผลกระทบต่อลูกในครรภ์ได้โดยตรง ซึ่งปัญหาสุขภาพจิตเหล่านั้นมีอะไรบ้างที่คุณแม่ต้องคอยระมัดระวังไว้ไปติดตามกันเลย
1. โรควิตกกังวล
เป็นความวิตกกังวลที่เกิดขึ้นมากกว่าบุคคลทั่วไป ซึ่งส่วนมากจะเกิดขึ้นกับคุณแม่ในขณะที่ตั้งครรภ์ คุณแม่จะสังเกตได้ว่ามีความย้ำคิดย้ำทำมากขึ้น คิดวนคิดซ้ำอยู่กับเรื่องเดิมๆนานๆ ส่งผลให้เกิดเป็นความเครียดสะสมเกิดขึ้น ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้ไม่ส่งผลดีต่อทารกในครรภ์เลย หากพบว่าตัวเองกำลังมีความวิตกกังวลมากจนเกินไป ให้หาวิธีการผ่อนคลาย เช่น การออกไปเดินเล่นนอกบ้าน รดน้ำต้นไม้ ดูหนัง ฟังเพลง แทนการคิดวิตกกังวลที่มากเกินไปนั่นเอง
2. โรคซึมเศร้า
เมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์จะพบกับการเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านร่างกายและสภาพจิตใจ ในช่วงนี้คุณแม่จะอ่อนไหวง่าย ไวต่อความรู้สึก ในบางรายอาจมีความวิตกกังวลมากจนเกินไปจนเกิดเป็นภาวะซึมเศร้าขึ้นได้ ซึ่งโรคนี้จะส่งผลให้นอนไม่หลับ เริ่มไม่มีสมาธิ มีอารมณ์ที่ฉุนเฉียวมากขึ้น จนทำให้สภาพจิตใจย่ำแย่และไม่มีความสุขกับการใช้ชีวิต ซึ่งภาวะเหล่านี้จะส่งผลต่อทารกในครรภ์ได้โดยตรง หากพบว่ามีอาการผิดปกติเหล่านี้ควรรีบพบแพทย์ทันที
3. พฤติกรรมการทานอาหารที่ผิดปกติ
เป็นอีกหนึ่งพฤติกรรมที่พบมากในคุณแม่ตั้งครรภ์ ซึ่งอาจเกิดขึ้นจากหลายปัจจัย ส่งผลให้คุณแม่มีพฤติกรรมการทานอาหารที่มากขึ้น หรือในบางรายทานอาหารได้น้อยลง ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้มาสาเหตุมาจากภาวะทางอารมณ์และสภาพจิตใจโดยตรง หากร่างกายได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์ไม่เพียงพอ ทารกในครรภ์จะไม่สามารถเจริญเติบโตได้อย่างมีคุณภาพ อาจมีพัฒนาการที่ช้ากว่าปกติ หรือในคุณแม่บางรายสามารถทานอาหารได้มากจนเกินไป อาจส่งผลให้เป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ได้เช่นกัน
4. โรคไบโพลาร์
ในขณะที่ตั้งครรภ์ คุณแม่จะรู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์อย่างรวดเร็ว และส่วนมากมักไม่สามารถที่จะจัดการหรือควบคุมอารมณ์เหล่านั้นได้ อาการของโรคไบโพลาร์ที่พบบ่อย เช่น พูดเร็ว นอนไม่หลับ มีอาการดีใจ เศร้าซึมเสียใจ หรือโมโห สลับกันอย่างรวดเร็ว หากไม่สามารถจัดการกับอารมณ์ได้จนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ให้รีบพบแพทย์ทันที เพื่อไม่ให้อารมณ์ฉุนเฉียวนั้นส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์นั่นเอง
5. โรคแพนิค
ก็เป็นอีกโรคหนึ่งที่มีความผิดปกติทางอารมณ์ ส่วนใหญ่เกิดจากคุณแม่ที่มีความวิตกกังวลสูงจนเกินไป มีความตื่นตระหนกอยู่ตลอดเวลา ตื่นกลัวกับทุกสิ่งที่อยู่รอบตัว จนทำให้เกิดเป็นความเครียดสะสม ใช้ชีวิตอย่าหวาดระแวงไม่มีความสุข ซึ่งโรคแพนิคนั้นคนไข้ส่วนมากจะมีอาการร่วมกับ ตกใจตื่นในตอนกลางคืนอยู่บ่อยๆ มีภาวะหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ หายใจลำบาก ถ้าหากเผชิญกับสถานการณ์ที่น่ากลัวจะมีอาการตัวสั่นร่วมกับอาการเวียนศีรษะเกิดขึ้น ซึ่งอาการเหล่านี้พบได้มากในหญิงตั้งครรภ์
จะสังเกตได้ว่าภาวะทางอารมณ์ที่เกิดขึ้นในหญิงตั้งครรภ์นั้น ส่วนมากมักจะยากต่อการควบคุมและไม่สามารถที่จะบริหารอารมณ์ของตนเองได้ ซึ่งเป็นภาวะทางจิตใจที่น่าเป็นห่วงและไม่ควรมองข้ามอย่างเด็ดขาด เพราะภาวะทางอารมณ์เหล่านี้มักส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์โดยตรง คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์อยู่นั้นควรดูแลสุขภาพจิตใจเป็นพิเศษ ถึงแม้ว่าจะต้องเผชิญกับสถานการณ์หรือเรื่องราวที่ส่งผลกระทบต่อจิตใจมากเพียงใด ควรบริหารอารมณ์ของตนเองให้ดี เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อทารกกในครรภ์ ที่สำคัญจะต้องหมั่นเฝ้าสังเกตอารมณ์ของตนเองอยู่เสมอ หากเข้าข่ายภาวะทางอารมณ์ที่กล่าวมาข้างต้นนี้ ให้รีบขอคำแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในทันที เพื่อไม่ให้จิตใจนั้นย่ำแย่ลงเรื่อยๆ และจะได้ทำการรักษาได้อย่างทันท่วงทีเพื่อลูกน้อยในครรภ์นั่นเอง