บทความนี้ขอแนะนำ บทความเรื่อง อาการใกล้คลอดเป็นแบบไหน สัญญาณเตือนใกล้คลอดที่คุณแม่ต้องรู้ เมื่ออายุครรภ์ของคุณแม่มากขึ้น เชื่อว่าคุณแม่หลายคนโดยเฉพาะคุณแม่มือใหม่มักจะมีความกังวลในเรื่องของการคลอดอย่างอาการใกล้คลอดต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น และการดูแลคนท้องก็ไม่ใช่เรื่องง่ายซึ่งคุณแม่มักจะต้องคอยสังเกตสัญญาณเตือนใกล้คลอดอยู่เสมอ เนื่องจากอาการของคนใกล้คลอดแต่ละคนไม่เหมือนกันซึ่งมีทั้งอาการที่พบได้เป็นปกติและอาการผิดปกติที่ต้องไปพบแพทย์
อายุครรภ์เท่าไหร่ที่ปกติคุณแม่จะเริ่มมีอาการใกล้คลอด
โดยปกติแล้วคุณแม่มักจะตั้งครรภ์หรืออุ้มท้องลูกน้อยประมาณ 38- 42 สัปดาห์ อาการใกล้คลอดของคุณแม่มักจะเกิดในช่วงสัปดาห์ที่ 38- 42 เนื่องจากมดลูกเริ่มมีการบีบตัว หรือหดเกร็งมากขึ้นเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการคลอดลูกน้อย ส่วนใหญ่อาการใกล้คลอดมักจะเป็นอาการเจ็บท้อง
ซึ่งมีทั้งเจ็บท้องเตือนและเจ็บท้องจริง โดยคุณแม่จะต้องหมั่นคอยสังเกตอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นกับตนเองอยู่เสมอ ถ้าหากพบว่ามีอาการผิดปกติควรรีบไปพบแพทย์ทันที
อาการใกล้คลอด มีอะไรบ้าง
1.ปวดท้องคล้ายมีประจำเดือน
อาการปวดท้องคล้ายมีประจำเดือนเป็นหนึ่งในอาการที่พบได้บ่อยในช่วงใกล้คลอด อาการนี้เกิดจากการหดตัวของมดลูก ซึ่งเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการคลอด อาการปวดนี้อาจเริ่มจากเบา ๆ แล้วค่อย ๆ รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ จนกลายเป็นความเจ็บปวดที่ค่อนข้างหนัก ซึ่งบางครั้งอาจมีลักษณะเป็นช่วง ๆ หรือมีการหดตัวเป็นจังหวะ การสังเกตและจดบันทึกการหดตัวของมดลูกจะช่วยให้คุณแม่ทราบว่าความถี่และความรุนแรงของการหดตัวเป็นอย่างไร
2.ปวดหลัง
อาการปวดหลังเป็นอาการทั่วไปที่มักเกิดกับแม่ท้อง แต่หากเริ่มมีอาการปวดหลังรุนแรงมากขึ้น ซึ่งในบางครั้ง อาจมาจากการที่ศีรษะของเด็กในครรภ์ ไปสัมผัสกับกระดูกสันหลังของแม่ท้องจึงทำให้มีอาการปวดหลังรุนแรง ซึ่งอาจเป็นอีกสัญญาณของการใกล้คลอดได้เช่นกัน
3.มีน้ำใส ๆ หรือมูกเลือดออกจากช่องคลอด
การที่มีน้ำใส ๆ หรือมูกเลือดออกจากช่องคลอดเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่าปากมดลูกเริ่มเปิดและบางลง มูกเลือดที่ออกมานั้นเป็นผลจากการที่ปากมดลูกขยายและเตรียมพร้อมสำหรับการคลอด ซึ่งอาจเกิดขึ้นก่อนการคลอดหลายชั่วโมงหรือหลายวัน หากพบว่ามีน้ำคร่ำไหลออกมาอย่างต่อเนื่องหรือเป็นน้ำใส ๆ ออกมาเป็นจำนวนมาก ควรรีบไปพบแพทย์หรือโรงพยาบาลทันที
4.ท้องลดต่ำลง
ท้องของคุณแม่อาจลดต่ำลงเมื่อหัวของทารกเริ่มเข้าสู่กระดูกเชิงกราน การที่ท้องลดต่ำลงนี้สามารถช่วยให้คุณแม่หายใจสะดวกขึ้นเนื่องจากการกดดันที่หน้าอกจะลดลง แต่ในขณะเดียวกันอาจทำให้รู้สึกเจ็บหรือไม่สบายบริเวณกระดูกเชิงกรานและขาหนีบมากขึ้น คุณแม่อาจรู้สึกว่าเดินได้ลำบากกว่าเดิมหรือมีอาการปวดเมื่อยบริเวณเชิงกราน
5.ปัสสาวะบ่อยขึ้น
ในช่วงใกล้คลอด คุณแม่อาจต้องปัสสาวะบ่อยขึ้นเนื่องจากทารกที่เคลื่อนลงไปในกระดูกเชิงกรานจะกดดันกระเพาะปัสสาวะมากขึ้น นอกจากนี้การที่มดลูกขยายตัวอย่างต่อเนื่องยังทำให้ความจุของกระเพาะปัสสาวะลดลง ทำให้ต้องปัสสาวะบ่อยขึ้นกว่าปกติ
6.ท้องเสีย
อาการท้องเสีย ก็เป็นอีกหนึ่งสัญญาณของการใกล้คลอด และเมื่อใกล้คลอด ร่างกายจะปล่อยสารโพรสตาแกลนดิน ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้มดลูกหดตัว และหากมีอาการท้องเสีย จะทำให้ร่างกายของคุณแม่ที่ตั้งครรภ์เกิดภาวะขาดน้ำ หากมีการท้องเสียมาก ร่างกายจะขาดน้ำอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการบีบตัวของมดลูกอันนำไปสู่การคลอดได้
7.มดลูกบีบตัว
มดลูกบีบตัวตัวเป็นจังหวะที่เกิดขึ้นไม่สม่ำเสมอหรือไม่เจ็บปวดมาก เรียกว่า อาการมดลูกบีบตัว หรือ Braxton Hicks Contractions เป็นอาการที่เกิดจากมดลูกหดตัวเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการคลอด แต่ถ้าอาการหดตัวนี้เริ่มเป็นจังหวะสม่ำเสมอและเจ็บปวดมากขึ้น อาจเป็นสัญญาณว่าเริ่มเข้าสู่การคลอด คุณแม่ควรจดบันทึกความถี่และระยะเวลาของการหดตัวเพื่อให้แพทย์สามารถประเมินสถานการณ์ได้
8.การเคลื่อนไหวของทารกลดลง
เมื่อทารกเติบโตมากขึ้นและพื้นที่ในมดลูกแคบลง การเคลื่อนไหวของทารกอาจลดลงบ้าง แต่คุณแม่ควรยังคงรู้สึกถึงการเคลื่อนไหวของทารกอย่างน้อยวันละ 10 ครั้ง ถ้าการเคลื่อนไหวลดลงอย่างมากหรือหยุดเคลื่อนไหว ควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที เพราะอาจเป็นสัญญาณว่าทารกมีปัญหาหรือขาดออกซิเจน
9. การเปิดของปากมดลูก
แพทย์หรือพยาบาลผดุงครรภ์จะตรวจสอบการเปิดของปากมดลูกเพื่อดูว่าพร้อมสำหรับการคลอดหรือไม่ การเปิดของปากมดลูกเป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่าเวลาคลอดใกล้เข้ามาแล้ว ปากมดลูกจะเปิดและบางลงเพื่อให้ทารกผ่านออกมาได้ การตรวจสอบนี้มักจะทำในระหว่างการตรวจครรภ์หรือเมื่อคุณแม่มีอาการมดลูกบีบตัวเป็นระยะเวลานาน
10.ถุงน้ำคร่ำแตก
อาการถุงน้ำคร่ำแตก หรือที่เรียกกันว่า น้ำเดิน แสดงถึงการที่มดลูกเริ่มบีบตัวหดเล็กลงเพื่อบีบให้ศีรษะของเด็กเคลื่อนลงสู่อุ้งเชิงกราน น้ำที่ออกมาจะเป็นลักษณะใสๆ คล้ายน้ำปัสสาวะ อาการน้ำเดินมีโอกาสมากถึง 80 % ที่จะคลอดภายใน 12 ชั่วโมง หากคุณแม่ท้องมีอาการเช่นนี้ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
11.เจ็บท้องคลอด
จะเป็นอาการเจ็บท้องรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ ในลักษณะที่เจ็บสม่ำเสมออย่างต่อเนื่อง นานขึ้นและถี่ขึ้นจนกว่ากระบวนการคลอดจะสิ้นสุดลง โดยอาการเจ็บท้องคลอดนี้จะรู้สึกว่าเริ่มเจ็บที่ส่วนบนของมดลูกก่อน แล้วเจ็บร้าวลงไปข้างล่าง ท้องแข็งตึง ถ้าเดินหรือเคลื่อนไหวก็จะเจ็บมากขึ้น ส่วนใหญ่มักจะมีมูกปนเลือดออกมาทางช่องคลอดมากขึ้น
ทั้งนี้หากมีสัญญาณเพิ่มเติมในช่วงไตรมาสสุดท้ายคุณแม่ควรรีบเก็บกระเป๋าไปโรงพยาบาลทันที ซึ่งอาการเหล่านี้ ได้แก่
– มีเลือดออกทางช่องคลอด
– เมื่อลูกไม่ดิ้น หรือดิ้นน้อยลงกว่าปกติ
– น้ำคร่ำเป็นสีน้ำตาล เขียว เหลือง หรือสีอื่น ๆ นอกเหนือจากสีใสหรือสีชมพู
– อาเจียนไม่หยุด
บทส่งท้าย
นอกจากอาการเจ็บท้องเตือน หรือเจ็บท้องคลอดแล้ว หากมีอาการและสัญญาณเตือนอื่นๆ เพิ่มเติมในช่วงไตรมาสสุดท้าย ได้แก่ มีเลือดออกทางช่องคลอด ลูกไม่ดิ้นหรือดิ้นน้อย มีไข้หรือหนาวสั่น น้ำคร่ำเป็นสีน้ำตาล เขียว เหลือง หรือสีอื่น ๆ นอกเหนือจากสีใสหรือสีชมพู รวมทั้งอาเจียนไม่หยุด ควรรีบไปโรงพยาบาลทันที
เครดิตรูปภาพ
www.verywellfamily.com www.cosmopolitan.com plazaobg.com www.rainbowhospitals.in