บทความนี้ขอแนะนำ บทความเรื่อง ลูกดิ้นตอนกี่เดือน ลูกดิ้นแบบนี้หมายความว่ายังไง การดิ้นของลูกในท้องเป็นสัญญาณที่คุณแม่ควรรู้ การดิ้นของทารก ไม่ได้เป็นเพียงสัญญาณให้คุณแม่และครอบครัวรู้สึกตื่นเต้นและดีใจเท่านั้น แต่ยังเป็นสิ่งสำคัญที่บ่งบอกถึงสุขภาพของทารกด้วย คุณแม่จึงควรจดบันทึกความเปลี่ยนแปลงไว้อยู่เสมอ เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ด้วย
การดิ้นของลูกสำคัญอย่างไร ลูกดิ้นบอกอะไรได้บ้าง
การดิ้นของลูก เป็นการบ่งบอกถึงระดับพัฒนาการขั้นต้น ทำให้คุณพ่อคุณแม่ได้ทราบแล้วว่าขณะนี้ลูกสามารถที่จะมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อคุณพ่อคุณแม่ได้ เช่น มีการเตะหรือดิ้น หรือขยับแขนขาเมื่อได้ยินเสียงดนตรี เสียงร้องเพลง เสียงเล่านิทาน หรือเสียงคุยกันของคุณพ่อคุณแม่ มากไปกว่านั้น การดิ้นของลูกก็ยังสามารถเป็นสัญญาณเตือนของความผิดปกติได้ด้วยเหมือน เช่น คุณแม่รู้สึกว่าลูกดิ้นน้อยลง หรือไม่ดิ้นเลย จากที่ปกติจะดิ้นเป็นประจำ
ลูกดิ้นตอนกี่เดือน การดิ้นของทารกบอกอะไรเราได้บ้าง
ทารกในครรภ์จะเริ่มดิ้นตั้งแต่อายุครรภ์ประมาณ 7-8 สัปดาห์ แต่คุณแม่ส่วนใหญ่จะเริ่มรู้สึกถึงการดิ้นได้ชัดเจนในช่วงไตรมาสที่ 3 การดิ้นของลูกน้อยเกิดจากการพัฒนาของระบบประสาท กล้ามเนื้อ และกระดูก ซึ่งเป็นพัฒนาการตามธรรมชาติ ลักษณะการดิ้นของลูกน้อยแต่ละคนอาจแตกต่างกันไป บางคนอาจดิ้นแรงและถี่ บางคนอาจดิ้นเบาและช้า ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ เช่น
– ช่วงเวลา ทารกในครรภ์มักจะดิ้นร่าเริงในช่วงเวลาที่คุณแม่นอนพัก หรือหลังทานอาหาร
– ปริมาณน้ำตาลในเลือด หลังจากรับประทานอาหาร ปริมาณน้ำตาลในเลือดของคุณแม่จะเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ลูกน้อยมีพลังงานในการดิ้นมากขึ้น
– กิจกรรมของแม่ การเคลื่อนไหวร่างกายของแม่ อาจส่งผลให้ลูกน้อยรู้สึกเหมือนถูกกล่อมจนหลับ และดิ้นน้อยลง
ลูกดิ้น คุณแม่จะมีความรู้สึกอย่างไรนะ
เวลาที่ลูกดิ้น เตะ หรือเคลื่อนไหว คุณแม่จะรู้สึกราวกับว่ามีอะไรกำลังกระพืออยู่ภายในท้อง คล้ายกับเวลาที่ผีเสื้อกระพือปีก หรือรู้สึกเหมือนมีวงคลื่นเล็ก ๆ อยู่ในท้อง คล้ายกับวงคลื่นเวลาที่ปลาว่ายน้ำ อย่างไรก็ตาม ระยะแรกคุณแม่อาจจะยังไม่รู้สึกตัวว่าลูกดิ้น และอาจแยกไม่ออกว่าเป็นอาการจุกเสียด หรือเป็นเพราะลูกกำลังดิ้น แต่แม่ที่ตั้งท้องครั้งที่ 2 หรือ 3 จะสามารถแยกแยะการดิ้นได้ดีกว่า เพราะมีประสบการณ์มาก่อนแล้ว
วิธีการนับลูกดิ้น ที่นิยมจะมี 2 วิธี
1.วิธีของ Cardiff (count-to-ten)
– นับการดิ้นหลังจากตื่นนอน ตั้งแต่เวลา 9 โมงเช้า จนครบ 12 ชั่วโมง
– ถ้านับการดิ้นได้ น้อยกว่า 10 ครั้ง ภายใน 12 ชั่วโมง แปลว่าผิดปกติ ให้พบแพทย์
2.วิธีของ Sadovsky
– นับการดิ้นหลังทานอาหารแต่ละมื้อ (เช้า, กลางวัน, เย็น) โดยนับการดิ้นภายใน 1 ชั่วโมงหลังทานอาหาร
– ถ้านับการดิ้นได้ 4 ครั้งขึ้นไป ภายใน 1 ชั่วโมง แปลว่าปกติ
– ถ้านับการดิ้นได้น้อยกว่า 4 ครั้ง ภายใน 1 ชั่วโมง ให้นับต่อไปอีกจนครบ 4-6 ชั่วโมง
– ถ้านับการดิ้นได้ 4 ครั้งขึ้นไป แปลว่าปกติ และติดตามการดิ้นหลังมื้ออาหารถัดไป
– ถ้านับการดิ้นได้น้อยกว่า 4 ครั้ง แปลว่าผิดปกติ ให้พบแพทย์
– ถ้านับการดิ้นทั้งหมดได้ น้อยกว่า 12 ครั้ง ต่อวัน แปลว่าผิดปกติ ให้พบแพทย์
ลูกดิ้นแบบไหนอันตราย
อย่างที่ได้กล่าวไปตั้งแต่แรกแล้วว่า การดิ้นของลูกไม่เพียงแต่บอกถึงการมีสุขภาพแข็งแรงและมีพัฒนาการสมวัยเท่านั้น บางครั้งลูกดิ้น ก็เป็นสัญญาณอันตรายได้ด้วยเหมือนกัน
โดยลักษณะการดิ้นของลูกที่เป็นอันตราย มีดังนี้
1.ลูกดิ้นมาก การที่ลูกดิ้นบ่อยนั้นเป็นเรื่องปกติ แสดงว่าลูกมีร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง แต่จะมีบางกรณีที่ควรระวังคือ จู่ ๆ ลูกก็ดิ้นมากผิดปกติอยู่ระยะหนึ่ง แล้วก็หยุดดิ้นไปเสียดื้อ ๆ โดยไม่มีการดิ้นต่อ หากเกิดกรณีเช่นนี้ ควรไปพบแพทย์ทันที เพราะอาจเกิดความผิดปกติกับทารกในครรภ์
2.ลูกดิ้นน้อย หากลูกดิ้นน้อยกว่า 3 ครั้งต่อชั่วโมง หรือในช่วงเวลา 12 ชั่วโมง ลูกดิ้นน้อยกว่า 10 ครั้ง ควรไปพบแพทย์ทันที เพราะอาจเกิดความผิดปกติกับทารกในครรภ์
3.ลูกไม่ดิ้น ลูกดิ้นเป็นสัญญาณปกติของการตั้งครรภ์ แต่ลูกไม่ดิ้นก็เป็นสัญญาณปกติเช่นกัน เพราะในบางครั้งลูกอาจะกำลังหลับอยู่ ทำให้ไม่มีการเคลื่อนไหวใด ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีอายุครรภ์ตั้งแต่ 32 สัปดาห์ขึ้นไป ทารกก็จะเริ่มดิ้นน้อยลง เนื่องจากมีขนาดตัวใหญ่ขึ้น และมดลูกไม่สามารถขยายเพื่อรองรับขนาดตัวของทารกได้อีก ทำให้ทารกเคลื่อนไหวได้น้อยลง อย่างไรก็ตาม ลูกดิ้นน้อยลง ก็แปลว่าลูกยังดิ้นอยู่ แต่ถ้าคุณแม่พยายามกระตุ้นให้ลูกดิ้นหลายครั้งแล้ว แต่ก็ไม่มีการตอบสนองใด ๆ ตอบกลับมา ควรไปพบแพทย์ทันที เพราะอาจเกิดความผิดปกติกับทารกในครรภ์
บทส่งท้าย
ทารกในครรภ์ดิ้นเป็นการเคลื่อนไหวและอากัปกิริยาต่างๆของทารกที่อยู่ในครรภ์ คุณแม่สามารถรู้สึกได้จากการขยับเขยื้อนในร่างกาย สัญญาณความเปลี่ยนแปลงจากการเจริญเติบโตเป็นเรื่องที่คุณแม่ควรให้ความสำคัญ และคอยสังเกตความผิดปกติ เพื่อความปลอดภัยของทารกในครรภ์
เครดิตรูปภาพ parenting.firstcry.com www.bellefit.com www.istockphoto.com www.parents.com