บทความนี้ขอแนะนำ “การอยู่ไฟหลังคลอดคืออะไร มีประโยชน์แค่ไหน แล้วคุณแม่หลังคลอดจำเป็นที่จะต้องอยู่ไฟไหม” คุณแม่มือใหม่มักได้รับคำแนะนำให้ “อยู่ไฟหลังคลอด” ซึ่งเป็นความเชื่อดั้งเดิมที่ส่งต่อกันมา โดยเชื่อว่าการอยู่ไฟจะช่วยให้ร่างกายของคุณแม่สามารถฟื้นฟูกลับสู่สภาพปกติได้โดยเร็วขึ้น ซึ่งความเชื่อนี้ช่วยได้จริงหรือไม่ มีประโยชน์อย่างไร จำเป็นไหมที่ต้องอยู่ไฟหลังคลอด บทความมีข้อมูลมาฝากกัน
การอยู่ไฟ คืออะไร
การอยู่ไฟ คือ วิธีการฟื้นฟูสุขภาพสำหรับคุณแม่หลังคลอดตามศาสตร์การแพทย์แผนไทยที่มีมาแต่โบราณ ซึ่งตามหลักของแพทย์แผนไทยแล้ว ร่างกายของคนเราจะประกอบไปด้วยธาตุดิน น้ำ ลม และไฟ แต่การคลอดลูกจะทำให้คุณแม่เสียธาตุไฟออกไปจำนวนมาก ดังนั้น การอยู่ไฟจึงเป็นการช่วยเพิ่มธาตุไฟและเพิ่มสมดุลให้กับร่างกาย ซึ่งจะช่วยฟื้นฟูสภาพร่างกายที่เหนื่อยล้าจากการตั้งครรภ์และการคลอดบุตรให้กลับคืนสู่สภาพปกติ โดยการอยู่ไฟในปัจจุบันได้มีถูกปรับเปลี่ยนจากรูปแบบการอยู่ไฟแบบดั้งเดิมเพื่อช่วยให้คุณแม่มีความสะดวกสบายและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น โดยประโยชน์ของการอยู่ไฟหลัก ๆ ได้แก่ การช่วยขับน้ำคาวปลา ช่วยให้มดลูกเข้าอู่เร็วขึ้น ฟื้นฟูสภาพร่างกายที่อ่อนล้า และช่วยกระตุ้นน้ำนม
การอยู่ไฟหลังคลอดจำเป็นไหม
การแพทย์ในยุคปัจจุบันยังพัฒนาขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก โดยก่อนที่จะคลอดแพทย์จะทำการฉีดยา “ออกซิโทซิน” หรือยาเร่งคลอด ซึ่งยาดังกล่าวจะช่วยให้มดลูกบีบและหดตัวลงหลังคลอด และมีการเย็บปิดแผลคลอดลูกอย่างดี จึงไม่ต้องกังวลว่าหลังคลอดแล้วมดลูกจะไม่หดตัว หรือมดลูกจะไม่เข้าอู่ จึงไม่จำเป็นต้องมีการอยู่ไฟแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม เรื่องการอยู่ไฟก็อาจจะเป็นเรื่องปัจเจก หากสนใจหรืออยากลองทำ ก็สามารถทำได้ เพราะการอยู่ไฟในสมัยนี้ก็มีการพัฒนาและปรับให้เข้ากับโลกในปัจจุบันมากขึ้น แต่เพื่อความปลอดภัยควรทำการอยู่ไฟกับสถานบริการที่น่าเชื่อถือและมีใบอนุญาตถูกต้อง
ระยะเวลาของการอยู่ไฟ ต้องอยู่นานเท่าไหร่
อยู่ไฟ ระยะเวลาของการอยู่ไฟโดยส่วนใหญ่แล้วของเป็นบุคคลธรรมดาที่อยู่ตามต่างจังหวัดก็จะให้ระยะเวลาของการอยู่ไฟประมาณ 30 วัน หรือ 1 เดือน หากว่าเป็นบุคคลที่อยู่ในเมืองกรุงหรือทำงานอาจจะมีระยะเวลาอยู่น้อยก็อาจจะอยู่ประมาณ 5-7 วัน แล้วแต่มดลูกของแม่แต่ละคนนะว่า เข้าอู่ไวแค่ไหน เป็นต้น
การอยู่ไฟ ให้ประโยชน์อะไรกับตัวคุณแม่บ้าง
– การอยู่ไฟจะช่วยกระตุ้นร่างกายให้เกิดการไหลเวียนของโลหิต
– ร่างกายจะมีการเพิ่มอุณหภูมิ ช่วยเพิ่มความอบอุ่น เพราะส่วนใหญ่คุณแม่หลังคลอดมักจะมีรู้สึกหนาวเข้ากระดูดเวลาอากาศเย็นลด
– การอยู่ไฟสามารถลดอาการอ่อนเพลีย จากการคลอดและการเสียเลือดในช่วงคลอดลูก
– ความร้อน ความอบอุ่น สามารถลดการปวดเมื่อยตามข้อต่อต่างๆ กล้ามเนื้อ เส้นเอ็นแข็งแรง
– การอยู่ไฟ อบสมุนไพร จะช่วยให้ผิวพรรณดี ผุดผ่อง สุขภาพดีขึ้น
– การปรับอุณหภูมิด้วยความร้อน จะช่วยให้ร่างกายมีภูมิต้านทานโรคเพิ่มขึ้น ร่างกายแข็งแรงขึ้น
– การอยู่ไฟจะช่วยปรับสมดุลในร่างกายให้เป็นปกติ เลือดลมไหลเวียนดี
– การปรับอุณหภูมิในร่างกายช่วยให้หน้าท้องยุบเร็ว หน้าท้องแบนเร็วขึ้น
– การอยู่ไฟหลังคลอด จะช่วยลดความเจ็บปวด เมื่อมดลูก เกิดภาวะบีบรัดตัวให้เข้าสู่ภาวะปกติ หรือที่คนโบราณมักจะพูดว่า การอยู่ไฟเพื่อให้มดลูกเข้าอู่
การอยู่ไฟในปัจจุบันมีขั้นตอนอะไรบ้าง
1.นวดประคบสมุนไพร
เพื่อให้คุณแม่รู้สึกผ่อนคลาย ทั้งยังช่วยผ่อนคลายความเมื่อยของกล้ามเนื้อ รวมถึงช่วยให้เลือดลมไหลเวียนดีขึ้นอีกด้วย
2.ทับหม้อเกลือ
หลังจากนวดเสร็จแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็คือการทับหม้อเกลือ โดยหม้อเกลือก็คือหม้อดินเผาขนาดเล็ก ใส่เกลือไว้ภายใน จากนั้นห่อทับด้วยใบพลับพลึงและผ้าขาวบาง นำมาประคบวางที่หน้าท้อง หลังส่วนล่าง และขา ความร้อนจากการทับหม้อเกลือนี้เชื่อว่าจะช่วยเปิดรูขุมขน ช่วยเร่งขับน้ำคาวปลาออกมาตามรูขุมขน ทำให้มดลูกเข้าอู่ได้เร็วขึ้น และยังช่วยลดอาการปวดกล้ามเนื้อ ทั้งยังเป็นการกระชับหน้าท้องได้อีกทางหนึ่ง
3.อบสมุนไพร
จบจากการทับหน้าเกลือ ก็จะเป็นการอบสมุนไพร โดยใช้สมุนไพรไทยที่มีสรรพคุณช่วยในการบรรเทาอาการปวดเมื่อย และมีสรรพคุณเป็นสารระเหยช่วยให้รู้สึกสดชื่น ผ่อนคลาย ทำให้เลือดลมไหลเวียนได้ดีขึ้น รู้สึกสบายตัวมากขึ้น
การอยู่ไฟหลังคลอด คุณแม่ต้องปฏิบัติอย่างไร
สำหรับข้อแนะนำในการดูแลตัวเองขณะอยู่ไฟหลังคลอด โดยเฉพาะคุณแม่ที่คลอดธรรมชาติ จนไปถึง คุณแม่ที่ผ่าคลอดลูกควรปฏิบัติดังนี้
– หากคุณแม่หลังคลอดที่ผ่านการคลอดลูกแบบธรรมชาติ คุณแม่สามารถอยู่ไฟได้ทันที หลังจากพักฟื้นได้ประมาณ 1 สัปดาห์ไปแล้ว
– สำหรับคุณแม่หลังคลอดที่ทำการผ่าคลอด ต้องรอก่อนสักระยะ เพราะยังไม่สามารถอยู่ไฟได้ทันที เนื่องจากต้องรอและดูแลให้แผลผ่าตัดหายเสียก่อน จนกว่าแผลจะแห้งสนิท ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะต้องรอประมาณ 1 เดือนขึ้นไป เพื่อป้องกันอันตราย และไม่ให้แผลผ่าตัด มีภาวะอักเสบ ขณะที่อยู่ไฟ แผลอาจเน่า หายช้ามาก
ข้อห้ามในการ อยู่ไฟหลังคลอด
อาการของคุณแม่หลังคลอดที่ห้ามอยู่ไฟ มีดังนี้
– คุณแม่หลังคลอดที่มีไข้สูงเกิน 37.5 องศาเซลเซียส
– คุณแม่หลังคลอดที่เป็นโรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคหอบหืด โรคลมชัก โรคไต
– คุณแม่หลังคลอดที่มีการตกเลือด
บทส่งท้าย
การอยู่ไฟ เป็นทางเลือกการดูแลสุขภาพหลังจากคลอด ปัจจุบันยังมีอีกหลายวิธีที่จะช่วยดูแลตนเองได้ดี ก่อนตัดสินใจจึงควรสอบถามแพทย์ เพื่อหาวิธีที่ดีที่สุดที่เหมาะกับตนเองก่อนเสมอ หากคุณแม่มีความต้องการที่จะอยู่ไฟ ก็ควรหาข้อมูลของสถานที่ให้บริการอยู่ไฟหลังคลอดไว้ตั้งแต่เนิ่น ๆ ที่เชี่ยวชาญ รวมทั้งอุปกรณ์ที่ใช้ในการอยู่ไฟ จะต้องสะอาดและปลอดภัยกับตัวแม่หลังคลอดด้วย